เมื่อวันที่ 19 เดือนมกราคม 2564 เวลา 10.40 - 12.20 น. ณ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ SMP โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา ได้มีการจัดการเรียนการสอนปฏิบัติการวิชาเคมี เรื่อง การแยกสารมีสีด้วยวิธีโครมาโทกราฟี โดยใช้ตัวทำละลายน้ำ เอทานอล และสารละลายโซเดียมคลอไรด์ ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยมีอาจารย์อาแอเสาะ มะตารี เป็นอาจารย์ประจำวิชาเคมี และมีเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเป็นผู้ช่วยแลปปฏิบัติการกับนักเรียน
โครมาโทกราฟี คือ การแยกออกมา ให้เป็นสี ๆ ทั้งนี้เนื่องจาก Tswetf ชาวรัสเซีย เป็นผู้ริเริ่มใช้เทคนิคนี้เป็นคนแรกในปี ค.ศ. 1906 โดยการแยกสารที่สกัดออกจากใบไม้ออกได้เป็นสีต่าง ๆ โครมาโทกราฟีนอกจากใช้แยกสารที่มีสีได้แล้ว โครมาโทกราฟียังสามารถใช้แยกสารที่ไม่มีสีได้อีกด้วย
โครมาโทกราฟีมีหลายประเภท เช่น
1. โครมาโทกราฟีแบบกระดาษ
2. โครมาโทกราฟีแบบคอลัมน์ (แบบลำกระบอก)
3. ทินเลเยอร์โครมาโทกราฟี (แบบผิวบาง)
การแยกสารโดยวิธีโครมาโทกราฟี (chromatography) นิยมใช้แยกสารเนื้อเดียว
ที่ผสมกันอยู่ในปริมาณน้อยออกจากกัน โดยอาศัยสมบัติในการละลายของสาร ในตัวทำละลาย และสมบัติ ของตัวดูดซับ โดยที่สารแต่ละชนิดมีความสามารถ ในการละลายต่างกัน และถูกดูดซับด้วย ตัวดูดซับได้ต่างกัน สารที่แยกโดยวิธีนี้ มักเป็นสารมีสี เช่น สีย้อม สีผสมอาหาร สีจากส่วนต่าง ๆ ของพืช น้ำหมึก อีกทั้งยังใช้แยกสารที่ไม่มีสีได้อีกด้วย เช่น สารละลายกรดอะมิโน สารละลายน้ำตาลหลายชนิดผสมกัน
หลักการแยกสารโดยใช้วิธีโครมาโทกราฟี มีดังนี้
1. ใช้แยกสารผสมที่มีสีปนอยู่ด้วยกันออกจากกัน และถ้าเป็นสารที่ไม่มีสีสามารถแยกได้เช่นกัน แต่ต้องอาศัยเทคนิคเพิ่มเติม
2. สารที่ผสมกันจะต้องมีความสามารถในการละลายในตัวทำละลายชนิดเดียวกันได้ต่างกัน และความสามารถในการถูกดูดซับโดยตัวดูดซับชนิดเดียวกันได้ต่างกัน ถ้าสมบัติต่างกันมากจะแยกได้ชัดเจนมากขึ้น
3. สารที่ละลายได้ดีส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมได้น้อยจึงเคลื่อนที่ไปได้ไกล สารที่ละลาย
ได้น้อยส่วนใหญ่จะถูกดูดซับได้ดี จึงเคลื่อนที่ไปได้ระยะทางน้อยกว่า
การทำโครมาโทกราฟี ประกอบด้วยองค์ประกอบหรือตัวกลาง 2 ชนิด ดังนี้
1. ตัวกลางที่ไม่เคลื่อนที่ หรือตัวดูดซับ เป็นตัวดูดซับสารที่ต้องการแยก ซึ่งสารต่างชนิดกัน จะถูกดูดซับด้วยตัวดูดซับชนิดเดียวกันได้ต่างกัน ตัวอย่างตัวดูดซับ ได้แก่ กระดาษกรอง กระดาษโครมาโทกราฟี แท่งชอล์ก เป็นต้น
2. ตัวกลางที่เคลื่อนที่ หรือตัวทำละลาย อาจเป็นของเหลวบริสุทธิ์หรือเป็นสารละลายก็ได้ ทำหน้าที่ละลายสารต่าง ๆ (ตัวละลาย) แล้วพาเคลื่อนที่ไปบนตัวดูดซับ สารที่ละลายได้ดีจะแยกตัวออกมาก่อน ตัวอย่างตัวกลาง หรือตัวทำละลาย เช่น น้ำ เอทานอล น้ำเกลือ เฮกเซน อีเทอร์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น