แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เกี่ยวกับโครงการ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เกี่ยวกับโครงการ แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2563

เสนอโครงการ SMP ต่อยอดการพัฒนาการศึกษาเพื่อความมั่น ปีงบประมาณ พ.ศ.2564

 ระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2563 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ร่วมกิจกรรมประชุมปฏิบัติการการจัดทำโครงการเพื่อเสนอของบประมาณตาม "แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (จชต.) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564" 
    ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เสนอโครงการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program: SMP และโครงการพัฒนาด้านการศึกษาแบบบูรณาการในพื้นที่ จชต.  ให้เป็นโครงการสำคัญหลายโครงการ สำหรับโครงการ SMP  เสนอของบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้เป็นโครงการดำเนินงานต่อเนื่อง ซึ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2563 มีโรงเรียนอยู่ในโครงการ จำนวน 12 โรงเรียน และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เสนอขอเพิ่มอีก 3 โรงเรียน รวมเป็นทั้งหมด 15 โรงเรียน  มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในโครงการกว่า 1,500 คน คณะผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน ผู้สอนศาสนา ผู้ปกครอง และชุมชน เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ SMP กว่า 3,500 คน และเป็นโครงการที่เพิ่มโอกาส ลดช่องว่างทางการศึกษา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โครงการนี้ ที่เป็นการวางรากฐานในการสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ประยุกต์ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ จชต. และประเทศชาติต่อไปในอนาคต ส่งเสริมการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ต่อไป 
   ในอนาคต มหาวิทยาลัยได้เสนอให้โครงการ SMP เป็นต้นแบบในการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในพื้นที่ ขยายผลให้เป็นโครงการโดยใช้งบปกติของหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาต่อไป

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2562

นำเสนอโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563


วันที่ 17 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ  อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี ประธานคณะกรรมการดำเนินงานโครงการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program: SMP) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอรายละเอียดโครงการเพื่อเสนอของบประมาณประจำปี พ.ศ. 2563 เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานของโครงการ SMP ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5  (เริ่มโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559)  โดยมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ  ผู้แทนจาก กอ.รมน.ภ.4 ส่วนหน้า และคณะทำงานจากสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.) เพื่อกลั่นกรองข้อมูลเตรียมนำเสนองบประมาณโครงการต่อคณะกรรมการกรรมาธิการต่อไป ซี่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นี้ โครงการ SMP ยังคงสนับสนุนการพัฒนานักเรียน อาจารย์ บุคลากร ผู้บริหาร ชุมชน ผู้ปกครอง (โรงเรียนเดิม 9 โรงเรียน และมีเป้าหมายพัฒนาโรงเรียนใหม่อีก 3 โรงเรียน) รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายบูรณาการการทำงานร่วมกันในพื้นที่
    ในปี พ.ศ. 2563 มีเป้าหมายเพื่อใช้การศึกษาเป็นกลไกในการพัฒนาด้านความมั่นคง สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อตอบสนองกำลังคงในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเน้นการใช้กระบวนการวิจัยในการติดตามประเมินผลการพัฒนาในโครงการอย่างต่อเนื่อง
   สำหรับผลการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมา ในปีการศึกษา 2562 มีนักเรียน ม.6 รุ่นแรกจาก 6 โรงเรียนในโครงการ สำเร็จการศึกษา 238 คน และเข้าศึกษาต่อปริญญาตรี ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวม วิทยาศาสตร์ประยุกต์ จำนวน 69 คน คิดเป็นร้อยละ 28.99  ซึ่งตามเป้าหมายในโครงการ ต้องการสร้างเจตคตินักเรียนในโครงการให้สนใจศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบโจทย์ความต้องการตลาดแรงงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ในอนาคต  ในจำนวนผู้สำเร็จการศึกษา ยังมีความต้องการเรียนต่อด้านศาสนาให้จบหลักสูตร อีกจำนวน 68 คน ในจำนวนนี้ คาดว่าจะมีผู้ศึกษาต่อปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และที่เกี่ยข้องเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงการจะติดตามต่อไป


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการดำเนินงานโครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ติดตามได้ที่  https://smp-yru.blogspot.com/p/blog-page_7.html

วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การจัดสรรงบประมาณและการดำเนินงานโรงเรียน SMP ในปีงบประมาณ 2561


ในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดี ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (http://sirichai.yru.ac.th) ได้รับมอบหมายจากอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภักยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ พร้อม ผู้ช่วยเกสรี ลัดเลีย และคุณมนตรี อุดมพงษ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองนโยบายและแผน (http://president.yru.ac.th/plan) ให้เดินทางไปนำเสนอและสนับสนุนข้อมูลสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเสนอคำของบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ณ อาคารรัฐสภา อาคาร 2 กรุงเทพมหานคร โดยส่วนราชการจะต้องเสนอของบประมาณนอกเหนือจากงบพื้นฐานเป็นโครงการภายใต้แผนบูรณาการ (http://www.bb.go.th/bbweb/?page_id=7045) ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้เสนอโครงการของบประมาณภายใต้งบบูรณาการ "แผนบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้"  อย่างต่อเนื่องมาตลอดมากกว่า 3 ปี โดยโครงการการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program: SMP) เป็นกิจกรรมสำคัญกิจกรรมหนึ่งของโครงการหลักของมหาวิทยาลัยภายใต้ชื่อโครงการคือ "การพัฒนาคุณภาพาสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาชายแดนใต้"
   ผลการนำเสนองบประมาณภายใต้ "แผนบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต่อคณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างที่ปรึกษา (งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 โครงการ SMP ไม่มีข้อเสนอแนะให้ปรับแก้ใดๆ ซึ่งคาดว่าโครงการและงบประมาณที่เสนอดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 จะเป็นไปตามที่เสนอขอ ทั้งนี้ ต้องรอผลการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2561 ในวาระที่ 2,3 ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะประชุม 31 สิงหาคม 2560 และคาดว่าจะเรียบร้อยด้วยดี และผ่านเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561 และประกาศใช้ต่อไป
   ดังนั้นในการดำเนินงานโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รับผิดชอบพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในเขตจังหวัดยะลา และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รับผิดชอบสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาฯในจังหวัดปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ รับผิดชอบสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาฯ ในจังหวัดนราธิวาส จะได้ดำเนินงานการอย่างต่อเนื่องต่อไป และสร้างความเข้มแข็งการบูรณาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สำนักงานการศึกษาเอกชน โรงเรียนในโครงการ นักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อให้ห้องเรียน SMP ของโรงเรียนในโครงการได้รับพัฒนาจนสำเร็จตามเป้าหมายต่อไป อีกทั้ง ห้องเรียน SMP จะเป็นโครงการสำคัญในการสนับสนุนการจัดตั้ง "สถาบันพัฒนาครูและบุคลากรชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" (http://pts.yru.ac.th) ให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
   ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะยังคงพัฒนานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4,5,6 ครูและผู้บริหาร ผู้ปกครองโรงเรียนเครือข่ายเดิม 6 โรงเรียน และเพิ่มกลุ่มเป้าหมายโรงเรียนใหม่อีกจำนวน 3 โรงเรียน โดยรับนักเรียนรุ่นแรกของ 3 โรงเรียนใหม่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนละ 1 ห้อง ห้องละ 40 คน  สำหรับโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือก จะประกาศแนวทางและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการต่อไป

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560

โครงการ SMP เปิดให้คำปรึกษาออนไลน์การจัดการเรียนรู้ผ่าน Forum ถาม-ตอบ

 ผลจากการติดตามนิเทศการดำเนินงาน และการจัดการเรียนรู้โดยใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่พัฒนาและปรับปรุงขึ้นในโครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเมื่อช่วงวันที่ 27-28 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาสำคัญคือ การขาดทักษะการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะการสอนเนื้อหาและทักษะห้องปฏิบัติการ การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นร่วมกัน ควรมีการจับคู่ระหว่างอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละรายวิชาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กับครูผู้สอนแต่ละวิชาในโรงเรียนเครือข่าย เพื่อให้การจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพและบรรลุผลของโครงการต่อไป





ด้วยข้อจำกัดของเวลาและระยะทาง ที่อาจารย์นิเทศก์ไม่สามารถลงพื้นที่โรงเรียนได้บ่อยครั้งและได้อย่างทั่วถึง  ดังนั้น โครงการ SMP เปิดช่องทางให้คำปรึกษาออนไลน์ด้านเทคนิค การจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิชาอื่นๆ ในโครงการ SMP ผ่าน Forum ถาม-ตอบ คือ
https://groups.google.com/a/yru.ac.th/forum/?hl=th#!forum/smp-yru-forum
    จึงขอเชิญคณาจารย์ที่ปรึกษา/นิเทศก์ประจำโครงการแต่ละวิชา และครูผู้สอนจากทั้ง 6 โรงเรียนเครือข่าย เข้าร่วมกิจกรรม หากมีข้อสงสัยประการใด โปรดติดต่อ sirichai.nbr@yru.ac.th หรือ thidawan.p@yru.ac.th เพื่อดำเนินการแก้ไขและให้คำปรึกษาต่อไป ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

วันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คณะกรรมการควบคุมและตรวจรับสิ่งก่อสร้างลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาห้องเรียน SMP


วันที่ 25 มิถุนายน 2559 คณะ
กรรมการควบคุมและตรวจรับการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในพื้นที่โครงเรียนเครือข่าย โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้แก่ โรงเรียนสมบูรณ์ศาสตร์ ต.บ้านแหร อ.ธารโต โรงเรียนมะอาหาดอิสลามียะห์ ต.บารอ อ.รามัน ผลการดำเนินงานปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง คืบหน้าไปตามลำดับ คาดว่าจะเสร็จสิ้นได้ทันใช้อย่างสมบูรณ์ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 นี้



วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2559

โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาจัดปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2559

วันที่ 29 มีนาคม 2559 เวลา 08.30-15.30 น. โครงการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ Science and Mathematics : SMP จัดปฐมนิเทศนักเรียนใหม่ พร้อมผู้ปกครอง และครูผู้สอน รวมทั้งคณะผู้บริหาร ประจำปีการศึกษา 2559 จากโรงเรียนเครือข่ายในโครงการ  6 โรงเรียน รวมนักเรียน 238 คน พร้อมผู้ปกครอง จำนวนรวมกว่า 500 คน ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  โดยได้รับเกียรติจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ ให้เกียรติเป็นประธานและให้โอวาท แนวทางในการดำเนินงานโครงการ SMP เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในพื้นที่ พร้อมทั้งผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งนักเรียนใหม่จากทั้ง 6 โรงเรียน ผู้ปกครอง ครู และคณะผู้บริหาร รวมกว่า 500 คน ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค์ในการดำเนินงาน รวมทั้งแผนการดำเนินกิจกรรมพัฒนาครูและนักเรียนตลอดปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 นี้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้มีโอกาสเยี่ยมชมสถานที่ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา



เอกสารประกอบและภาพกิจกรรมการปฐมนิเทศ

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

มหาวิทยาลัยเครือข่ายประชุมเสนอความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการ SMP และแลกเปลี่ยนเรียนรู้

    ในวันที่ 1 มีนาคม 2559 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสภาฯ คณะกรรมการโครงการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP) ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ได้จัดประชุมร่วมกัน เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการ SMP พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงปัญหาและอุปสรรคการดำเนินที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของโครงการ SMP 
    กิจกรรมการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ ให้เกียรติกล่าวเปิดการประชุม และให้โอวาทแก่คณะทำงานโครงการ SMP จากทั้ง 3 มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมติการประชุมร่วมกันดังกล่าว เห็นควรให้พัฒนาหลักสูตรเพื่อจัดการเรียนการสอนในโครงการ SMP เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และร่วมกันทำกิจกรรมของโครงการ ที่สามารถดำเนินการร่วมกันได้ ทั้งนี้ เพื่อประหยัดเวลาและลดขั้นตอนการดำเนินงานที่ซ้ำซ้อนกัน

        ในการประชุม ตัวแทนคณะทำงานโครงการ SMP ได้ร่วมกันนำเสนอความก้าวหน้าของกิจกรรมที่ได้ดำเนินการแล้ว กิจกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และกิจกรรมที่วางแผนให้เกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อเสนอแนะ ความร่วมมือ และแนวทางการดำเนินกิจกรรม เพื่อให้โครงการ SMP ของจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาสก้าวไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างประโยชน์แก่นักเรียนและนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป





วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

มรย.จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจข้อตกลง (MoU) ร่วมกับสำนักงานการศึกษาเอกชนและโรงเรียนเครือข่ายในโครงการ


ภาพเพิ่มเติม
วันที่ 26 มกราคม 2559 เวลา 11.00 น. โครงการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP-YRU) ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดกิจกรรมลงนามบันทึกความเข้าใจข้อตกลง (MoU) ร่วมกับสำนักงานการศึกษาเอกชนและโรงเรียนเครือข่ายในโครงการทั้ง 6 โรงเรียน ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ โดยมีผู้บริหารหน่วยงานประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายพิเชษฐ์ เจ้ยทองศรี ผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา นายมะสบรี ฮารี ผู้อำนวยการโรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา นายอาหามะรูยามี มูยุ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนมะอาหัดอิสลามมียะห์ นายรอซี เบ็ญสุหลง ผู้อำนวยการโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ นางสาวนูรียะห์ เตาะสาตู ผู้อำนวยการโรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ นางสาวซากีย๊ะ อาบู ผู้อำนวยการโรงเรียนสุทธิศาสน์ และนายมารูดิง เจ๊ะมิง ผู้จัดการโรงเรียนดำรงวิทยา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MoU) การดำเนินงานร่วมกันในโครงการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP) ในโรงเรียนเป้าหมายพื้นที่จังหวัดยะลา ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย และสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา และมี อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หัวหน้าโครงการ นายวิทยาศิลป์ สะอา รองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา รองศาสตราจารย์ ดร.อับดุลนาเซร์ หะยีสาเมาะ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และนายอัชลัม เบ็ญสุหลง รองหัวหน้าวิชาการสามัญโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมกับผู้มีเกียรติ  โดยอาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี นำเสนอความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ เป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานของโครงการ [สไลด์นำเสนอโครงการ  PDF]

      สำหรับเป้าหมายของการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) โครงการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP) ในโรงเรียนเป้าหมายพื้นที่จังหวัดยะลาครั้งได้แก่ การร่วมกันศึกษารูปแบบการบริหารและการจัดห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science Mathematics Program : SMP) ที่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในจังหวัดยะลา การพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ต้นแบบสำหรับรองรับการจัดฝึกอบรมปฏิบัติการพัฒนาครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ และครูผู้สอนคณิตศาสตร์ โรงเรียนเครือข่าย ณ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รวมทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนห้องเรียน SMP ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยเริ่มในปีการศึกษา 2559 เป็นรุ่นแรก โดยเน้นสู่ความเป็นเลิศและสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตลอดจนร่วมกันพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับผิดชอบสอนห้องเรียน SMP ที่จัดตั้งขึ้นในโรงเรียนกลุ่มเครือข่ายให้มีความรู้ และทักษะขั้นสูงเกี่ยวกับเทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์และงกบคณิตศาสตร์ ที่เน้นจัดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ สนุกสนาน และเน้นการปฏิบัติการทดลองได้จริง
     หลังพิธีลงนาม MoU ดังกล่าว มีพิธีมอบครุภัณฑ์การเรียนการสอนและครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์บางส่วนมูลค่ากว่า 1,200,000 บาท ให้แต่ละโรงเรียน (ยังไม่รวมการปรับปรุงห้องปฏิบัติการที่โรงเรียน)  เพื่อปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ของโรงเรียน และมีการประชุมเตรียมการดำเนินงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการบริหารโครงการจาก มรย. และคณะกรรมการจากโรงเรียนทั้ง 6 โรงเรียน เพื่อเร่งดำเนินการปรับหลักสูตร กำหนดปฏิทินวิชาการ การรับสมัคร การสอบคัดเลือก การปฐมนิเทศ และการจัดกิจกรรมเสริมอื่นๆ ก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1/2559 ต่อไป

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

รายงานตัวและปฐมนิเทศนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ SMP


วันที่ 15 มกราคม 2559 เวลา 08.30 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมเล็ก (ชั้น1 ห้อง108 อาคาร 5) คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร  คณะกรรมการโครงการ SMP จัดกิจกรรมปฐมนิเทศนักวิทยาศาสตร์ ประจำโครงการ SMP ใหม่ จำนวน 7 คน ซึ่งจะปฏิบัติงานในพื้นที่โรงเรียนเครือข่ายทั้ง 6 โรงเรียน รวมทั้งที่ห้องปฏิบัติวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์การต้นแบบที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาด้วย 
   กิจกรรมปฐมนิเทศ มีอาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี  รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ และคณะกรรมการประจำโครงการ SMP กล่าวตอนรับและเล่าถึงความเป็นมาของโครงการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program: SMP) กิจกรรมต่างๆ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการ รวมทั้งภาระหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ SMP ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติงานร่วมกันตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2559 เป็นต้นไป จนเสร็จสิ้นปีงบประมาณ ซึ่งเป้าหมายของโครงการนี้ คือร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายพัฒนาและจัดการเรียนการสอนห้องเรียนส่งเสริมนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มีเจตคติ รักการเรียนวิทยาศาสตร์ เน้นทักษะการปฏิบัติ การทดลอง การสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้แก่ผู้เรียน โดยอาศัยทักษะการสอนของผู้สอนที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากโครงการ

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

ประกาศผลการสอบคัดเลือกเจ้าหน้าที่ดูแลห้องปฏิบัติการต้นแบบวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์


เอกสารแนบ 12ม.ค.59ผลการสอบคัดเลือกเจ้าหน้าที่ดูแลห้องปฏิบัติการต้นแบบวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

ผู้ผ่านการคัดเลือกรายงานตัวและปฐมนิเทศในวันศุกร์ ที่ 15 มกราคม 2559 เวลา 08.30 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมเล็ก ชั้น1 ห้อง108 อาคาร5 คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร
หมายเหตุ ให้ผู้ผ่านการคัดเลือกเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วย

วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คณะกรรมการโครงการ SMP นำเสนอแนวคิดโครงการ SMP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560



               
 ในวันที่ 3 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคาร 20 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะกรรมการได้นำเสนอโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program: SMP) ในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดยะลาในปีงบประมาณ 2560






  
ซึ่งโครงการ SMP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของ มรย. เสนอให้ดำเนินการต่อปีงบประมาณต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามผลการดำเนินงานของโครงการ การดำเนินโครงการนี้ในปีการศึกษา 2560

ดูภาพเพิ่มเติม
เพื่อพัฒนานักเรียนในชั้น ม. 5 ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนในท้องถิ่นได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ด้วยทรัพยากรที่ได้สร้างไว้แล้ว จึงจะเปิดรับนักเรียนชั้นเรียน ม. 4 ใหม่เพิ่มขึ้นในโรงเรียนเดิมอีกโรงเรียนละ 1 ห้อง จำนวนนักเรียน 40 คน  รวมเป็นโรงเรียนละ 2 ห้อง จำนวนนักเรียน 80 คน และจะเพิ่มกิจกรรมสำหรับนักเรียนห้อง SMP เพิ่มขึ้นจากเดิมปีประมาณ พ.ศ.2559 เพื่อส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็ม










วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558

คณะกรรมการโครงการ SMP มรย.นำเสนอกรอบแนวคิดโครงการ SMP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560

วันอังคารที่ 1 ธันวาคม 2558 ณ ห้องประชุมสภา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดประชุมกลั่นกรองการเสนอกรอบแนวคิด โครงการและกิจกรรมเพื่อเสนอของบประมาณโครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560  โดยสอดคล้องตามบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยฯ โดยกรอบแนวคิดของโครงการที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ที่สอดคล้องกับพันธกิจและกรอบนโยบายการพัฒนาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัด
ชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ด้านการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพการศึกษา ด้านการพัฒนาเยาวชน ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และด้านการสื่อสารเพื่อสันติภาพและสันติสุข ซึ่งคณะกรรมการได้นำเสนอโครงการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program: SMP) ในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดยะลา

     กรอบความคิดของโครงการ SMP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของ มรย. เสนอให้ดำเนินการต่อปีงบประมาณต่อๆ ไปอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามผลการดำเนินงานของโครงการ โดยขยายจำนวนนักเรียนใหม่ โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 มีนักเรียนระดับชั้น ม.5 รหัสนักเรียน 59 จำนวน 240 คน (6 โรงเรียน ๆ ละ 40 คน) และรับนักเรียนใหม่ระดับชั้น ม.4 รหัส 60 จำนวน 240 คน (6 โรงเรียน ๆ ละ 40 คน) รวมสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จำนวน 480 คน โดยงบประมาณเน้นไปในด้านการพัฒนาศักยภาพครู กิจกรรมพัฒนานักเรียน สร้างเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

แนะนำโครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ประชุมคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ
ทบทวนและกำหนดเป้าหมายและกิจกรรมในโครงการ SMP-YRU
(10 ก.พ. 58) 
โครงการการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP) ในโรงเรียนเป้าหมายพื้นที่จังหวัดยะลา หรือโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่บริการการศึกษา เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน ในลักษณะงบบูรณาการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และเป็นโครงการสำคัญ (Flagship Project) ที่เห็นชอบจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้มหาวิทยาลัยฯ ในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ดำเนินงานโครงการ SMP เพื่อพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมทั้งด้านเทคโนโลยี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
     โครงการพัฒนาการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้  หรือโครงการ SMP-YRU มีเป้าหมายสำคัญ คือ การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นพื้นี่ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (เขตพื้นที่จังหวัดปัตตานี เป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์)
ซึ่งการดำเนินงานโครงการ SMP จะเริ่มดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ร่วมกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่อง จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่
  1. โรงเรียนสุทธิศาสตร์ ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา
  2. โรงเรียนดำรงวิทยา ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา 
  3. โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา ต.ลำใหม่ อ.เมือง 
  4. โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ ต.บาลอ อ.รามัน 
  5. โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ต.สะเตง อ.เมือง 
  6. โรงเรียนสมบูรณ์ศาสตร์ ต.ปะแต อ.ยะหา
   สำหรับกิจกรรมสำคัญในโครงการ SMP-YRU ประกอบด้วยกิจกรรมหลักๆ ได้แก่

1. บริหารจัดการโครงการและติดตามประเมินผล
2. พัฒนาศักยภาพครูผู้สอนอาจารย์นิเทศก์และผู้บริหารโครงการ
3. พัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ต้นแบบส่งเสริมการเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นฐาน (มรย.)
4. พัฒนาห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ต้นแบบส่งเสริม การเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นฐาน (มรย.)
5. พัฒนาและปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเครือข่าย
6. พัฒนาและปรับปรุงห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ ในโรงเรียนเครือข่าย
7. จัดการเรียนการสอนเสริมพิเศษในพื้นที่โรงเรียนเครือข่ายและที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
8. ศึกษาดูงานและจัดค่ายวิทยาศาสตร์เเสริมสร้างเจตคติและทักษะทางวิทยาศาสตร์
9. ค่ายไอซีทีเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21
10. English Camp เสริมสร้างภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร