วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2564
กิจกรรมแนะแนวโครงการ SMP-YRU โรงเรียนดำรงวิทยา
วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564
นักเรียนในโครงการ SMP-YRU ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนดำรงวิทยา จัดกิจกรรม English for child
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เวลา 08.00 – 16.30 น. นางสาวนูรีซัน ดีนา นักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP-YRU) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พร้อมด้วยทีมงาน ได้จัดกิจกรรม English for child ในหัวข้อเรื่อง Public speaking ให้กับนักเรียนระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 – 6 ที่มีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 28 คน ณ ห้องประชุมโรงเรียนดำรงวิทยา โดยมีนายอับดุลรอศักดิ์ ยูโซ๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนดำรงวิทยา ให้เกียรติมากล่าวเปิดพิธี และมีอาจารย์มูฮำมัด หะยีเลาะ อาจารย์สาขาภาษาอังกฤษ สังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นวิทยากรในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้
วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564
โรงเรียนดำรงวิทยา จัดอบรมการทำ Portfolio เสริมสร้างสมรรถนะการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 เวลา 08.00 - 16.30 น. โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (SMP-YRU) โรงเรียนดำรงวิทยา ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการทำ Portfolio เสริมสร้างสมรรถนะสำหรับการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ด้วยแอพลิเคชั่น CANVA ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meetings ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 - 6 เพื่อเตรียมความพร้อม และเป็นแนวทางสำหรับการใช้สมัครศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป โดยมีนายธวัชชัย ปราณขำ นักออกแบบ กราฟิก ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นวิทยากร และมีครูผู้สอนหมวดเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยในการอบรมในครั้งนี้
จากการอบรมในครั้งนี้ นักเรียนได้สะท้อนความคิดเห็นว่า เป็นหนึ่งกิจกรรมที่มีความน่าสนใจ และมีประโยชน์ อยากให้มีการจัดอบรมขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้รุ่นน้องในปีต่อๆไป จากการอบรมในครั้งนี้นักเรียนสามารถนำไปต่อยอด และสามารถนำมาเป็นแนวทางในการปรับใช้ในกิจกรรมอื่นต่อไปได้ ในการนี้ทางโรงเรียนต้องขอขอบคุณไปยังทางโครงการ SMP - YRU ที่อำนวยความสะดวกในการอบรมในครั้งนี้ด้วย
วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2564
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงานโครงการ SMP-YRU ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meeting)
วันที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 09.00 - 12.30 น. โดยมีอาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลิลลา อดุลยศาสน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร คณะกรรมการดำเนินงานและเจ้าหน้าที่โครงการ SMP-YRU ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ด้วยโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program Yala Rajabhat: SMP-YRU) ในโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่จังหวัดยะลา ภายใต้แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงานโครงการ SMP-YRU ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meeting) ใน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มหาวิทยาลัยฯ รายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา ข้อเสนอแนะ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับตัวแทนศูนย์สันติวิธี กอร.มน ภาค 4 ส่วนหน้า ตัวแทนสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา ผู้บริหาร คุณครู ผู้ปกครองและนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่าย 12 โรงเรียน เพื่อนำแนวทางมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาโครงการ SMP-YRU ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริการวิชาการและสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาครูและนักเรียนในโรงเรียนเครือข่าย
วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564
คณะทำงานประชุมเตรียมการเปิดห้องเรียนสาธิต PLC-SMP-YRU e-Learning
วันที่ 1 กันยายน 2563 คณะทำงานพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ การพัฒนาการเรียนรู้ในรูปแบบอีเลิร์นนิ่ง หรือ PLC-SMP-YRU e-Learning ในโครงการวิจัย ตามแผนงานวิจัย แผนงานวิจัยการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) โดยการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้จากห้องเรียนสาธิต (OPEN CLASS) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร/หัวหน้าแผนงานวิจัย และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยย่อย โครงการวิจัยที่ 3 การจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งผ่านกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (SMP-YRU) ได้จัดกิจกรรมประชุมออนไลน์ เพื่อเตรียมการจัดกิจกรรมทดลองเปิดห้องเรียนสาธิต (Open Classroom) จัดการเรียนรู้ตามแผนจัดการเรียนรู้และรูปแบบจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง ในรายวิชาเคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง ความเข้มข้นของสารละลายในวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 นี้
วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564
PLC SMP-YRU จัดกิจกรรมทดลองเปิดห้องเรียนสาธิต (Open Classroom) แผนจัดการเรียนรู้รายวิชาเคมี ระดับชั้น ม.4 แบบ STEM
![]() |
จากการสังเกตในห้องเรียนออนไลน์ พบว่า ทั้งผู้สอน ผู้เรียน และผู้ร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ รู้สึกตื่นเต้นและได้รับประโยชน์จากการสังเกตกิจกรรมในห้องเรียน โดยใช้ห้องเรียนเป็นนักเรียนห้องเรียน SMP-YRU ของโรงเรียนดำรงวิทยา ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ถึงแม้ว่าจะเป็นการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ อาจมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้างในการเข้าห้องเรียน จากปัญหาความไม่พร้อมของสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่นักเรียนก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ได้ทุกคน และมีความสนุกสนาน ตื่นเต้น สามารถประดิษฐ์ชิ้นงาน โดยใช้หลักการบูรณาการของศาสตร์ในสาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineer) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)
วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
SMP-YRU ได้รับงบสนับสนุนงบประมาณ ปี พ.ศ. 2565 ให้ดำเนินการต่อเนื่อง (โรงเรียนใหม่อีก 3 โรงเรียน และร่วมมือพัฒนากับโรงเรียนเดิมอีก 12 โรงเรียน)
การนำเสนอโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หรือ โครงการ SMP-YRU ภายใต้แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ : โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในแนวทางการศึกษาเพื่อความมั่นคง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 (ทางออนไลน์) นับว่าเป็นโอกาสดีทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนเครือข่ายการพัฒนาของศูนย์สันติวิธี (สสว.) กอ.รมน.ภ.4 สน. ที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนให้พัฒนาห้องเรียน SMP-YRU โรงเรียนใหม่อีกจำนวน 3 โรงเรียน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะได้ดำเนินการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในเครือข่ายในโรงเรียนเดิมอีก 12 โรงเรียน อย่างต่อเนื่องต่อไป รวมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะมีนักเรียนในโครงการ SMP-YRU ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกัน จำนวน 15 โรงเรียน มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในปีการศึกษาหน้า และที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วในโครงการนี้กว่า 2,000 คน (ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559) ผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติในห้องทดลอง (Lab) สร้างทักษะการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning: PjBL) เป็นกลยุทธ์การสอนเป็นหลัก สร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 มีโอกาสในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตนเองสนใจ สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนในพื้นที่ในการประกอบอาชีพที่มั่นคงในอนาคต เป็นห้องเรียนที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน
ขอขอบคุณมหาวิทยาลัย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะทำงาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ อย่างต่อเนื่องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีผลงานวิจัยประเมินความสำเร็จของโครงการที่เป็นรูปธรรม มีนักเรียนในโครงการจบชั้น ม. 6 และศึกษาต่อระดับปริญญาตรีมากกว่าร้อยละ 40 ที่เหลือศึกษาต่อด้านสังคมศาสตร์ ด้านศาสนา ประกอบอาชีพ และอื่น ๆ
ตัวอย่างที่นักเรียนชั้น ม. 6 สอบเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีได้ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้แก่ แพทยศาสตร์ 2 คน แพทย์แผนไทย 3 คน เทคนิคการแพทย์ 4 คน วิศวกรรมศาสตร์ 11 คน พยาบาลศาสตร์ 11 คน สาธารณสุขศาสตร์และอาชีวอนามัย 10 คน เทคนิคยานยนต์ 3 คน วิทยาการคอมพิวเตอร์ 10 คน นอกจากนั้นเป็นสาขา วิทยาศาสตร์ทั่วไป ฟิสิกส์อุตสาหกรรม เคมีเทคโนโลยีและนวัตกรรม คณิตศาสตร์ วิทยการธุรกิจสุขภาพ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและความงาม ทั้งนี้มีนักเรียนสนใจเข้าศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสาขาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 54 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2564)
วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564
คณะกรรมการแผนวิจัยประชุมเพื่อดำเนินการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพโดยผ่านกระบวนการ PLC รายวิชาเคมี