ความเป็นมา

ความเป็นมาของโครงการ SMP-YRU

       มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  เป็น "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" ตามวิสัยทัศน์องค์กรที่ได้กำหนดไว้  โดยจัดให้มีโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญ ่ภายใต้แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน มีเป้าหมายคือการส่งเสริมพัฒนาเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับโอกาสในการพัฒนาและเสริมสร้างเจตคติที่ดีและถูกต้องต่อดำเนินงานภาครัฐ ด้วยการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และเป็นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย โดยเฉพาะในจังหวัดยะลา  และที่สำคัญคือการดำเนินงานในโครงการเป็นแนวทางการศึกษาเพื่อความมั่นคง มุ่งใช้กระบวนการพัฒนาทางด้านการศึกษาเป็นเครื่องมือและกลไกในการพัฒนาคุณภาพของนักเรียน เยาวชน ผู้ปกครอง และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เกี่ยวกับนโยบาย เจตนา และเป้าหมายในการพัฒนาของภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลให้ยั่งยืนต่อไป

        มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จึงบูรณาการร่วมกับส่วนราชการ ภาคเอกชนที่เกี่ยว จัดให้มีโครงการและกิจกรรมเพื่อสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ในโครงการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP-YRU) ในโรงเรียนเครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดยะลา คือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญ ในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งรวมทั้งหมดในปัจจุบันจำนวน 12 โรงเรียน  โดยร่วมกันพัฒนานักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6  ระดับชั้นละ 1 ห้อง ห้องเรียนละประมาณ 30-40 คน โดยร่วมกันพัฒนาในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  หลักสูตร  ครูผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียน  คณะกรรมการดำเนินงานโครงการ  นักเรียนและผู้ปกครอง การสร้างความสัมพันธ์ชุมชน การพัฒนาสภาพแวดล้อมของห้องปฏิบัติการ ครุภัณฑ์ วัสดุ และการสร้างความรู้ความเข้าใจ การสร้างการยอมรับในพื้นที่และชุมชน  โดยจัดให้มีกิจกรรมการพัฒนาให้ดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมีบุคลากรจากคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตรและจากส่วนราชการภายในที่เกี่ยวข้องเป็นกำลังสำคัญ  ดำเนินงานในรูปแบบ "คณะกรรมการดำเนินงาน" เน้นกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ใช้แนวทาง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"  และยังมีกระบวนวิจัยประเมินโครงการ กระบวนการติดตามนิเทศเยี่ยมชมผลการดำเนินงานของโรงเรียนในเครือข่ายอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

     สำหรับโรงเรียนในโครงการ SMP  YRU จำนวน 15 โรงเรียน ได้แก่

   รุ่นที่ 1  มีโรงเรียนได้รับการสนับสนุนเข้าร่วมโครงการปี 2559 จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่
   1)  โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ  ต.สะเตง อ.เมือง จ. ยะลา
   2)  โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา
   3)  โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา
   4)  โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์บาลอ ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา
   5)  โรงเรียนดำรงวิทยา ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา
   6)  โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา
       
  รุ่นที่ 2   มีโรงเรียนได้รับการสนับสนุนเข้าร่วมโครงการปี 2561 จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่
  1) โรงเรียนประทีปวิทยา ต. ลิดล อ.เมือง จ.ยะลา
  2) โรงเรียนคัมภีร์วิทยา ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา
  3) โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ ต.บันนังสาเรง อ.เมือง จ.ยะลา

  รุ่นที่ 3  มีโรงเรียนได้รับการสนับสนุนเข้าร่วมโครงการปี 2563 จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่
  1) โรงเรียนสตรีธรรมวิทยามูลนิธิ ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา
  2) โรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา ต. บาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา
  3) โรงเรียนดารุลฮูดาห์วิทยา ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา

  รุ่นที่ 4  มีโรงเรียนได้รับการสนับสนุนเข้าร่วมโครงการปี 2565 จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่
  1) โรงเรียนผดุงศิลวิทยา ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
  2) โรงเรียนเจริญศาสน์วิทยา ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา
  3) โรงเรียนพัฒนาวิทยากร ต.จะกว๊ะ อ.รามัน จ.ยะลา
   
รวมทั้งหมด 15 โรงเรียน

  หมายเหตุ โครงการ SMP YRU ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่องตามแผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปีงบประมาณปี พ.ศ. 2559-2565  และ มีเป้าหมายพัฒนาโรงเรียนเครือข่ายอย่างต่อเนื่องเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่ด้วยการศึกษา โดยมีเป้าหมายการพัฒนาในจังหวัดยะลา รวม 19 โรงเรียน แต่มีโรงเรียนที่มีศักยภาพและความพร้อมในการพัฒนา จำนวน 15 โรงเรียน

บันทึกความเข้าใจความร่วมมือ (MoU)

    การดำเนินงานในโครงการ SMP-YRU ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการเริ่มดำเนินงานด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ในความร่วมมือการดำเนินงานพัฒนาห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ร่วมกัน ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในจังหวัดยะลาที่เป็นเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา และมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภ.4 สน.) โดยศูนย์สันติวิธี (ศสว.) ร่วมเป็นสักขีพยาน  

วิสัยทัศน์ 

  "พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาจังหวัดชายแดนใต้สู่ความมั่นคงและสันติสุข"

      หมายถึง การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เข้มแข็ง ร่วมกันบูรณา พัฒนา และเสริมสร้างศักยภาพเยาวชนไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ให้เกิดความสนใจและมีเจตคติที่ดีต่อการเลือกอาชีพเป็นนักวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และนักเทคโนโลยี รวมทั้งการพัฒนาเป็นพลเมืองไทยที่ดี มีคุณภาพ มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และมีทักษะการคิดเชิงตรรกะ เน้นการคิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล และเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคตต่อไป

พันธกิจ

     1.  บูรณาการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างการรับรู้ ความรู้ ความเข้าใจต่อนโยบายและการดำเนินของภาครัฐด้านความมั่นคง โดยใช้การศีกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาไทย เป็นกลไกสำคัญ และการสร้างความร่วมมือจากผู้บริหาร ครู บุคลากร ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้นำศาสนาในพื้นที่ตั้งของโรงเรียนเครือข่าย เกี่ยวกับการดำเนินงานและนโยบายของรัฐบาลในพื้นที่ จชต. โดยการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MoU) ร่วมกัน
     2.  สร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ต้นแบบในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
    3.  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนการพัฒนาทั้งบุคลากร ทรัพยากร และงบประมาณในการพัฒนาห้องเรียนต้นแบบด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามบริบทของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลา
    4. ยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้มีเจตคติ ทักษะ และสนับสนุนให้นักเรียนศึกษาต่อปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือที่เกี่ยวข้อง

วัตถุประสงค์ของโครงการ

        1. เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจสร้างเจตคติที่ดีต่อการพัฒนาการศึกษาเพื่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัด ชายแดนใต้ให้แก่เครือข่ายโครงการ SMP โดยการสร้างกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ของโรงเรียนเครือข่ายและผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน ครูสอนศาสนา นักเรียน  ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาในพื้นที่ตั้งของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ
        2. เพื่อปรับปรุงห้องและพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์พร้อมจัดหาครุภัณฑ์ สื่อ โสตทัศนูปกรณ์ ส าหรับห้องเรียน SMP ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนากลุ่มเป้าหมายในจังหวัดยะลา สนับสนุนและ ส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
        3. เพื่อพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ต้นแบบ สำหรับจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ร่วมกันของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
        4. เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนการสอนห้องเรียน SMP ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ให้แก่นักเรียนที่มี ความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่
        5. เพื่อจัดกิจกรรมนอกหลักสูตรปลูกฝังเจตคติที่ดีและความรู้ความสามารถ ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้แก่ นักเรียนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
        6. เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับผิดชอบสอนห้องเรียน SMP ที่จัดตั้งขึ้นในโรงเรียน กลุ่มเป้าหมาย ให้มีความรู้และทักษะขั้นสูงเกี่ยวกับเทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
        7. เพื่อเร่งพัฒนาและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนห้องเรียน SMP ในวิชาวิทยาศาสตร์และ คณิตศาสตร์เพิ่มสูงขึ้น


จุดเด่นของหลักสูตร วิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์

        1. มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ ทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21
        2. นักเรียนมีคุณลักษณะและพฤติกรรมขยันหมั่นเพียร กระตือรือร้นมีความรับผิดชอบ มีวินัย และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
        3. มุ่งพัฒนาผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้เกิดความคิดเชิงบวก มีความรู้ความเข้าใจในนโยบายของรัฐในการพัฒนาการศึกษาเพื่อความมั่นคง
        4. มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถ ทักษะด้านเทคโนโลยี (ICT) เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ นำไปใช้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพต่อไป
        5. นักเรียนมีโอกาสลงมือปฏิบัติ ใช้อุปกรณ์ทดลอง ใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีความพร้อม ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
       6. นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการดำเนินงานของภาครัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนใจศึกษาเข้าเรียนต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีหรือที่เกี่ยวข้อง

เป้าหมายของโครงการ

     เชิงปริมาณ
        1 . พัฒนาห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program: SMP) ที่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนากลุ่มเป้าหมายในจังหวัดยะลา จำนวน 15 โรงเรียน โรงเรียนละ 1 ห้อง
        2.  พัฒนาห้องปฏิบัติการมาตรฐานต้นแบบ สำหรับใช้ร่วมกันในการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 1 ห้องเรียน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
        3. จำนวนนักเรียนห้องเรียน SMP-YRU ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในแต่ละไม่น้อยกว่า 1,400 คน จาก 15 โรงเรียนเครือข่าย (ร้อยละ 80 จากกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 1,120 คน)
        4. จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อพัฒนานักเรียนในโครงการ SMP-YRU ด้านเจตคติ ความรู้และประสบการณ์วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ผ่านกิจกรรมไม่น้อยกว่า 15 กิจกรรม ต่อปีการศึกษา
       5. พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาในโครงการ SMP-YRU ในแต่ละโรงเรียนได้รับการพัฒนาด้านทักษะการสอน ทักษะการทดลอง และทักษะที่เกี่ยวข้อง ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ต่อปีการศึกษา (กลุ่มเป้าหมายจำนวนไม่น้อยกว่า 60 คน)

   เชิงคุณภาพ

     1.  ร้อยละ 80 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน ครูสอนศาสนา นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และเครือข่ายบูรณาการ มีความรู้ความเข้าใจ มีเจตคติที่ดีต่อโครงการและนโยบายการพัฒนาของรัฐในพื้นที่ จชต. และร่วมเป็นเครือข่ายสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จชต. อย่างยั่งยืน
     2. ห้องเรียนและห้องปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้น สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการห้องเรียน SMP อยู่ในระดับดีขึ้นไป
     3. นักเรียนที่เรียนในโครงการห้องเรียน SMP มีคะแนนเฉลี่ยในวิชาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่ในระดับดีหรือพอใช้ (2.50) และมีคะแนนเฉลี่ยในทุกวิชาในหลักสูตรอยู่ในระดับดีหรือพอใช้
     4. นักเรียนที่เรียนในโครงการห้องเรียน SMP มีคุณลักษณะและพฤติกรรมขยันหมั่นเพียร กระตือรือร้น มีความรับผิดชอบ มีวินัย และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนในโปรแกรมวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และคิดเชิงบวก อยู่ในระดับดี
     5. จำนวนผลงานโครงงานของนักเรียนในโครงงาน SMP เพิ่มขึ้นปีละไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีการศึกษาที่ผ่านมา
     6. ครูผู้สอนและบุคลากรในโครงการห้องเรียน SMP มีความรู้และทักษะพิเศษในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่ในระดับดี

รูปแบบการพัฒนา SMP-YRU Model

    จากการดำเนินงานในโครงการ SMP-YRU ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2565 จากผลการวิจัยและผลการดำเนินงานร่วมกันของเครือข่ายทุกภาคส่วน สามารถสังเคราะห์เป็นรูปแบบการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ตามบริบทของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในจังหวัดยะลา โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม "ร่วมคิดร่วมทำ" ใช้กระบวนการพัฒนาระบบคุณภาพ PDCA  ได้แก่ การวางแผน (Plan) การลงมือทำ (Do) การประเมินและตรวจสอบ (Check) และการปรับปรุงการทำงาน (Action) ให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และเกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน โรงเรียนสามารถที่จะดำเนินการด้วยตนเองได้ เมื่อโครงการสิ้นสุดลง โดยไม่มีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานในอนาคต
 


    แนวทางการพัฒนาโครงการ SMP-YRU ในอนาคต

        ตามที่แนวทางการสนับสนุนงบประมาณและนโยบายการปรับลดงบประมาณของ "แผนบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เป็นต้นมา โดยมีหน่วยงานหลักกำกับการบูรณาการงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำหนดแนวทางการจัดสรรงบประมาณ ได้แก่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน กองทัพภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ.4 สน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยเฉพาะแนวทาง "การศึกษาเพื่อความมั่นคง" ตามแผนบูรณาการฯ ดังกล่าว ซึ่งปรับเปลี่ยนแนวทางไปจากเดิม จึงทำให้โครงการ SMP-YRU ไม่ได้รับสนับสนุนงบประมาณตามแผนบูรณาการการแก้ไขปัญหา 
       อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและโรงเรียนเครือข่าย ร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาโครงการ SMP-YRU ซึ่งมีเครือข่ายโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในโครงการที่เข้มแข็งในจังหวัดยะลา รวม 15 โรงเรียน โดยร่วมกันหาแนวทางในการพัฒนาโรงเรียน คุณภาพนักเรียน จากความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ รวมทั้งห้องปฏิบัติการ (STEM) ซึ่งมีความพร้อมแล้วในบางโรงเรียน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้รับการพัฒนาอย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) โดยมีแนวทางดำเนินการร่วมกัน ดังนี้
  1. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ยังทำหน้าที่และบทบาทสำคัญในการเป็นแม่ข่ายหลักของเครือข่ายโรงเรียน SMP-YRU ในฐานะเป็นหน่วยงานพัฒนาโครงการ และมีบทบาทเป็น "มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น" และเป็น "มหาวิทยาลัยคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้" ตามวิสัยทัศน์องค์กร ทั้งนี้ ได้จัดทำ MoU เป็นแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันของเครือข่าย และจัดให้มีการทบทวนทุก 3 ปี
  2. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาจะสนับสนุนและบูรณาการด้านวิชาการ ผ่านโครงการบริการวิชาการ โครงการวิจัย โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยใช้พื้นที่โรงเรียนและชุมชนของเครือข่าย SMP-YRU เป็นฐาน 
  3. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะดำเนินการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรอบรมปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนและโครงการ SMP-YRU  ครูผู้สอน ให้มีทักษะในการบริหารจัดการโรงเรียนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง พัฒนาครูให้มีทักษะการสอนปฏิบัติการ (Laboratory) รายวิชาด้านวิทยาศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ให้ครบถ้วนปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ทุกเรื่อง รวมถึงทักษะการสอนแบบเชิงรุก (Active Learning) การสอนแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) เป็นต้น  ทั้งนี้ โดยโรงเรียนยินดีสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาผู้บริหารและครูในโครงการ SMP-YRU
  4. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะส่งเสริมให้มีโครงการบริการวิชาการ โครงการวิจัย โครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม หรืออื่น ๆ เพื่อร่วมดำเนินการกับโรงเรียน SMP-YRU ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาครู และนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และให้พื้นที่ทั้ง 15 โรงเรียน เป็นห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) ในอนาคตต่อไป
  5. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและโรงเรียน SMP-YRU จะร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาห้องเรียน SMP-YRU มีการติดตามนิเทศ ประเมินผลการดำเนินงาน และจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในทุกปี
  6. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ส่งเสริมและสนับสนุนจัดหาให้มีแหล่งงบประมาณจากแหล่งอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในโครงการ SMP-YRU 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น