วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

แนวทางการพัฒนาต่อยอดนักเรียนในโรงเรียนและชุมชนในโครงการ SMP-YRU ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

           ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือที่รู้จักในโครงการ SMP-YRU มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2565 โดยได้รับงบประมาณแผ่นดินอุดหนุนภายใต้แผนบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับพัฒนาห้องเรียนต้นแบบโปรแกรมด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาและสร้างการรับรู้ ความรู้ความเข้าใจแก่เยาวชนเกี่ยวกับการดำเนินงานของภาครัฐในพื้นที่โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นฐาน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลารับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดยะลา รวมทั้งหมด 15 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนระดับชั้น ม.4-6 ที่ผ่านการพัฒนาในโครงการนี้มากว่า 2,500 คน มีนักเรียนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการในช่วงปี 2559-2562 แล้ว จำนวน 4 รุ่น กว่า 300 คน ส่วนใหญ่สนใจและสามารถศึกษาต่อปริญญาตรีในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ได้ และในสาขาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยในพื้นที่และมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง


     ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งตามแนวทางในแผนบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นให้ปรับกิจกรรมเพื่อที่จะไม่ให้ซ้ำซ้อนกับงานประจำ (Function) ของหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบอยู่แล้ว และได้กำหนดพื้นที่พัฒนาเร่งด่วนไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2566 พื้นที่ทั้ง 15 โรงเรียนและชุมชนรอบ ๆ โรงเรียน จึงเป็นพื้นที่การขยายผลและต่อยอดการดำเนินงานในโครงการเดิม โดยการใช้กลุ่มเป้าหมายในโรงเรียน SMP-YRU จำนวน 15 โรงเรียน บูรณการร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คุ้มค่าคุ้มทุนที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว โดยเน้นให้โรงเรียน ชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกันให้เกิดความมั่นคลและยั่งยืนต่อไป  

      ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการระดับมหาวิทยาลัยฯ เมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะกรรมการโครงการฯ จึงได้เสนอ (ร่าง)  โครงการพัฒนาทักษะเสริมการเรียนรู้ด้วยสมรรถนะไอที STEAM ด้วยการบูรณาการณ์ ศิลป์ (ศิลปะ ดนตรี ศาสนาและวัฒนธรรม) สร้างเสริมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการบูรณาการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสานต่อกิจกรรมพัฒนาและสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนห้องเรียน SMP-YRU และห้องเรียนโปรแกรมและระดับชั้นอื่น ๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรม  อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นเพียงการเสนอ (ร่าง) โครงการฯ เพื่อการพิจารณาโดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต่อไป โปรดติดตามความคืบหน้าโครงการฯ ต่อไป 


วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

คณะกรรมการโครงการ SMP-YRU ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนเครือข่าย จำนวน 3 โรงเรียน

          
          เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยมี อาจารย์ ดร.ศิริชัย  นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร/ผู้รับผิดชอบโครงการฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ SMP-YRU ร่วมกับคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร และกองนโยบายและแผน โดยทีมออกแบบและวิศวกร ลงพื้นที่เพื่อสำรวจสภาพห้องที่จะปรับปรุงและพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนเครือข่าย จำนวน 3 โรงเรียน เพื่อนำข้อมูลมาปรับแบบก่อสร้าง สำหรับการปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของแต่ละโรงเรียนให้มากที่สุด  สำหรับพื้นที่โรงเรียนที่ได้เข้าไปสำรวจและเยี่ยมชม ได้แก่ 

1.โรงเรียนผดุงศิลวิทยา ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา
2.โรงเรียนเจริญศาสน์วิทยา (ปอเนาะกาสังบน) ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา
3.โรงเรียนพัฒนาวิทยากร (ปอเนาะป่าพร้าว) ตำบลจ๊ะกว๊ะ อำเภอรามัน

ผลการตรวจเยี่ยม พบว่า สภาพทั่วไปของโรงเรียนเครือข่ายทั้ง 3 โรงเรียน มีการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมตอนต้น-ตอนปลายอยู่แล้ว และมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จำนวน 1 ห้อง แต่ส่วนใหญ่ ยังขาดอุปกรณ์ทดลองและวัสดุจัดการเรียนการสอน อีกทั้งครูผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์ ยังขาดการพัฒนาเทคนิคและทักษะในการจัดการเรียนรู้การทำการทดลองวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ 

วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พัฒนาศักยภาพของเยาวชนเพื่อเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ จัดขึ้นโดยคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

    เมื่อวันที่ 23 - 24 ตุลาคม 2564 ทีมนักเรียนโครงการ SMP โรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา ประกอบด้วยนางสาวฟารีดา มะเกะ นางสาวนูรอาซูรา เลาะแมหอ และนางสาวนูรฮีดายะห์ มูยา เข้าร่ามกิจกรรมและการการแข่งขันพัฒนาศักยภาพของเยาวชนเพื่อเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่จัดขึ้นโดยคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา


วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2564

นักเรียนในโครงการ SMP-YRU ได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการการพัฒนาศักยภาพผู้นำเด็กและเยาวชนผ่านกลไกกระบวนการเรียนรู้ของภาคีเครือข่ายสามจังหวัดชายแดนใต้ รุ่นที่ 2

 


    เมื่อวันที่ 23 - 25 ตุลาคม 2564 นักเรียนในโครงการ smp นางสาวฮัสซูนาห์ แวแดร์ ได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการการพัฒนาศักยภาพผู้นำเด็กและเยาวชนผ่านกลไกกระบวนการเรียนรู้ของภาคีเครือข่ายสามจังหวัดชายแดนใต้ รุ่นที่ 2 ผ่านระบบออนไลน์ Zoom ที่จัดขึ่นโดยคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กิจกรรม อบรมทำ Portfolio โรงเรียนคัมภีร์วิทยา

          วันที่ 23 ตุลาคม 2564 เวลา 08.00 - 16.30 น. โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา(SMP-YRU) โรงเรียนคัมภีร์วิทยา ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการทำ Portfolio ด้วยแอพลิเคชั่น CANVA ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meetings ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เพื่อเตรียมความพร้อม และเป็นแนวทางสำหรับการใช้สมัครศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป โดยมีนายธวัชชัย ปราณขำ นักออกแบบ กราฟิก ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นวิทยากรการอบรมในครั้งนี้

วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564

กิจกรรม อบรมทำ Portfolio เสริมสร้างสมรรถนะในการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

         

        วันที่ 16 ตุลาคม 2564 เวลา 08.00 - 16.30 น. โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา(SMP-YRU) โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการทำ Portfolio เสริมสร้างสมรรถนะในการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ด้วยแอพลิเคชั่น CANVA ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meetings ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเตรียมความพร้อม และเป็นแนวทางสำหรับการใช้สมัครศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป โดยมีนายธวัชชัย ปราณขำ นักออกแบบ กราฟิก ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นวิทยากรการอบรมในครั้งนี้

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564

โรงเรียนดำรงวิทยา จัดอบรมการทำ Portfolio เสริมสร้างสมรรถนะการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

        เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 เวลา 08.00 - 16.30 น. โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (SMP-YRU) โรงเรียนดำรงวิทยา ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการทำ Portfolio เสริมสร้างสมรรถนะสำหรับการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ด้วยแอพลิเคชั่น CANVA ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meetings ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 - 6 เพื่อเตรียมความพร้อม และเป็นแนวทางสำหรับการใช้สมัครศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป โดยมีนายธวัชชัย ปราณขำ นักออกแบบ กราฟิก ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นวิทยากร และมีครูผู้สอนหมวดเทคโนโลยีเป็นผู้ช่วยในการอบรมในครั้งนี้

       จากการอบรมในครั้งนี้ นักเรียนได้สะท้อนความคิดเห็นว่า เป็นหนึ่งกิจกรรมที่มีความน่าสนใจ และมีประโยชน์ อยากให้มีการจัดอบรมขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้รุ่นน้องในปีต่อๆไป จากการอบรมในครั้งนี้นักเรียนสามารถนำไปต่อยอด และสามารถนำมาเป็นแนวทางในการปรับใช้ในกิจกรรมอื่นต่อไปได้ ในการนี้ทางโรงเรียนต้องขอขอบคุณไปยังทางโครงการ SMP - YRU ที่อำนวยความสะดวกในการอบรมในครั้งนี้ด้วย

วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2564

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงานโครงการ SMP-YRU ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meeting)

          วันที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 09.00 - 12.30 น. โดยมีอาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลิลลา อดุลยศาสน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร คณะกรรมการดำเนินงานและเจ้าหน้าที่โครงการ SMP-YRU ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ด้วยโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program Yala Rajabhat: SMP-YRU) ในโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่จังหวัดยะลา ภายใต้แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงานโครงการ SMP-YRU ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meeting) ใน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มหาวิทยาลัยฯ รายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา ข้อเสนอแนะ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับตัวแทนศูนย์สันติวิธี กอร.มน ภาค 4 ส่วนหน้า ตัวแทนสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา ผู้บริหาร คุณครู ผู้ปกครองและนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่าย 12 โรงเรียน เพื่อนำแนวทางมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาโครงการ SMP-YRU ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริการวิชาการและสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาครูและนักเรียนในโรงเรียนเครือข่าย




วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564

ผู้บริหารโครงการ SMP-YRU เสนอผลดำเนินงานต่ออนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการทหารและความมั่นคง วุฒิสภา

   วันศุกร์ที่ 17 กันยายน 2564 เวลา 09.00-12.00 น. อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับกองนโยบายและแผน เสนอรายงานผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และแผนดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่ออนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการทหารและความมั่นคง วุฒิสภา  ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์  

    ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการสร้างภูมิคุ้มกันในพื้นที่ จชต. ตามแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม ได้แก่ 

กิจกรรมที่ 1  การปรับปรุงห้องปฏิบัติการในโรงเรียนเดิมรุ่นแรก 
             ตามที่ในปีงบประมาณ 2559 มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณเงินอุดหนุน เฉพาะหมวดสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ สนับสนุนการพัฒนาห้องเรียนพิเศษ SMP จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่  (1) โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง (2) โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง  (3) โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ ตำบลบะแต อำเภอยะหา (4) โรงเรียนดำรงวิทยา ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา (5) โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ ตำบลบาลอ อำเภอรามัน และ (6) โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต ซึ่งใช้ประโยชน์มานานกว่า 5 ปี จึงเน้นการปรับปรุงให้ห้องปฏิบัติการให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ใน 6 โรงเรียนเดิม ในรุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ซึ่งครุภัณฑ์และอุปกรณ์การเรียนปฏิบัติการเสื่อมสภาพ ชำรุด ต้องซ่อมแซม ปรับปรุง และจัดหาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนรุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการ สามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนชั้น ม.4 - ม.6 รวมทั้งนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียน สร้างโอกาสการศึกษาต่อปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นกำลังสำคัญของ Thailand 4.0


    กิจกรรมที่ 2 ปรับปรุงและพัฒนาห้องเรียน STEAM  (Science, Technology, Engineer, Art, Mathematics) 

          เป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายพัฒนา ห้องปฏิบัติการประดิษฐ์กรรม (Fabrication Laboratory) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า FabLab  ดำเนินการโดย คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร (http://science.yru.ac.th) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการศาสตร์ในด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะ และคณิตศาสตร์ ในโรงเรียน SMP-YRU และในสังกัด สพม. เพื่อ ปลูกฝัง เสริมสร้างแนวคิด เจตคติที่ดีต่อการศึกษาด้าน STEAM และการประกอบอาชีพในอนาคตด้านที่เกี่ยวข้อง เป็นการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักเรียนในพื้นที่ จชต. ด้วยการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา เน้นการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานในโรงเรียนพื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงดังกล่าว ทั้งโรงเรียนเดิมในโครงการ SMP-YRU (8 โรงเรียน) และโรงเรียนเครือข่ายพัฒนาของมหาวิทยาลัย (4 โรงเรียน) รวม 12 โรงเรียน  ได้แก่ 

1) โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ (สพม.)
2) โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา  (สช.)
3) โรงเรียนเบตงวีระราษฎร์ประสาน (สพม.) 
4) โรงเรียนสตรียะลา (สพม.)
5) โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ (SMP-YRU)
6) โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิยะลา (SMP-YRU)
7) โรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา (SMP-YRU) 
8) โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ (SMP-YRU)
9) โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ (SMP-YRU)
10) โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา (SMP-YRU)
11) โรงเรียนดำรงวิทยา (SMP-YRU)
12) โรงเรียนคัมภีร์วิทยา (SMP-YRU)

   ผลประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินงานในโครงการ SMP-YRU ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะส่งผลให้นักเรียนระดับชั้น ม.4-ม.6 ในโรงเรียน SMP-YRU จากทั้ง 12 โรงเรียน ได้รับโอกาสทางการศึกษา ลดช่องว่างทางการศึกษา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี จำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน ผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน ครู ของโรงเรียน ประชาชนในพื้นที่ตั้งของโรงเรียน เกิดการรับรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการ SMP-YRU แบบบูรณาการ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เยาวชน โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป


วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564

กิจกรรมเปิดห้องเรียนสาธิต PLC-SMP-YRU e-Learning รายวิชาเคมี ระดับชั้น ม.4


 วันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 09.00-11.00 น. แผนงานวิจัยการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) โครงการวิจัยย่อยที่ 3 การจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งผ่านกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (SMP-YRU)  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้วิจัยโดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี หัวหน้าแผนงานวิจัยและเป็นหัวหน้าโครงการ SMP-YRU จัดกิจกรรมเปิด 

     ห้องเรียนสาธิตจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง โดยใช้แผนจัดการเรียนรู้วิชาเคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง ความเข้มข้นของสารละลาย ซึ่งเกิดจากการพัฒนาร่วมกันของสมาชิกชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูเคมี ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย ที่สนใจการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนด้วยรูปแบบอีเลิร์นนิ่ง สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน และสร้างทักษะการจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งให้แก่ครูผู้สอนในการพัฒนาตนเองให้เหมาะกับบริบทสไตล์การเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเป็นคนในยุค Gen Z ที่เกิดมาพร้อม ๆ กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีออนไลน์

       การจัดกิจกรรมเปิดห้องเรียนหรือชั้นเรียนสาธิตครั้งนี้ จัดกิจกรรมสาธิตการจัดการเรียนรู้ทางออนไลน์ตามรูปแบบจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง ได้แก่ การจัดการชั้นเรียนผ่าน Google Classroom ร่วมกับ Google Meet และยังมีแอพลิเคชั่นสนับสนุนการติดต่อสื่อสาร การทำแบบทดสอบ การทำแบบฝึกหัดด้วยเกม โดยมี ครูสตารีย๊ะ มะลี จากโรงเรียนประทีปวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือข่าย SMP-YRU และมีกลุ่มทดลองเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 35 คน เรียนผ่านชั้นเรียน Google Classroom  

หลังจากจัดกิจกรรมสาธิตการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งเสร็จสิ้นแล้ว ได้จัดให้มีกิจกรรมการสะท้อนผลจากการสังเกตการณ์การจัดการเรียนรู้จากครูผู้สอน ผู้บริหาร ครูในชุมชน PLC-SMP-YRU eLearning ผู้เชี่ยวชาญ ผู้นิเทศก์ ในประเด็นความประทับใจ ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงแผนจัดการเรียนรู้ และกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ ซึ่งผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์จะได้เผยแพร่เพื่อแลกเปลี่ยนในโอกาสต่อไป 

วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

คณะทำงานประชุมเตรียมการเปิดห้องเรียนสาธิต PLC-SMP-YRU e-Learning

 วันที่ 1 กันยายน 2563 คณะทำงานพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ การพัฒนาการเรียนรู้ในรูปแบบอีเลิร์นนิ่ง หรือ PLC-SMP-YRU e-Learning ในโครงการวิจัย   ตามแผนงานวิจัย แผนงานวิจัยการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) โดยการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้จากห้องเรียนสาธิต (OPEN CLASS) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร/หัวหน้าแผนงานวิจัย และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยย่อย  โครงการวิจัยที่ 3 การจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งผ่านกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (SMP-YRU)   ได้จัดกิจกรรมประชุมออนไลน์ เพื่อเตรียมการจัดกิจกรรมทดลองเปิดห้องเรียนสาธิต (Open Classroom) จัดการเรียนรู้ตามแผนจัดการเรียนรู้และรูปแบบจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง ในรายวิชาเคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง ความเข้มข้นของสารละลายในวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 นี้



   ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ตามแผนใน วันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 09.00-11.00 น. ผ่านระบบการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ด้วย Google Classroom, Google Meet, Google App for Education และ Kahoot Game Application และจะจัดกิจกรรมสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ผ่านการประชุมออนไลน์ใน เวลา 11.00-12.30 น. โดยจัดการเรียนรู้ครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนชั้น ม. 4 โครงการ SMP-YRU โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ประมาณ 60 คน พร้อมเชิญผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ประจำโรงเรียน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการจัดการเรียนรู้ออนไลน์พร้อมกัน    

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

PLC SMP-YRU จัดกิจกรรมทดลองเปิดห้องเรียนสาธิต (Open Classroom) แผนจัดการเรียนรู้รายวิชาเคมี ระดับชั้น ม.4 แบบ STEM

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00-12.00 น. ที่ผ่านมา โครงการ SMP-YRU โดย  แผนงานวิจัยการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) โดยการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้จากห้องเรียนสาธิต (OPEN CLASS) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร/หัวหน้าแผนงานวิจัย และหัวหน้าโครงการวิจัยย่อย พร้อมด้วยคณะนักวิจัย ด้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จำนวน 3 โครงการย่อย จัดกิจกรรมเปิดห้องเรียนสาธิต (Open Classroom) ในโครงการวิจัยย่อย โครงการวิจัยที่ 1 การพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา ผ่านกระบวนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ Professional Learning Community (PLC) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้ มัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  โดยมี อาจารย์ปิยศิริ สุนทรนนท์ สินไชย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และ อาจารย์อลภา ทองไชย  อาจารย์ ดร.วารุณี หะยีมะสาและ เป็นผู้ร่วมวิจัย ได้จัดกิจกรรมสาธิตการเปิดห้องเรียน ที่เป็นผลงานจากชุมชนการเรียนรู้ หรือ PLC-SMP-YRU ที่ร่วมกันพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ตามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกันเมื่อวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา (https://smp-yru.blogspot.com/search?q=plc)  
 

สำหรับกิจกรรมวันนี้ นับเป็นกิจกรรมสำคัญของโครงการวิจัย ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนา PLC-SMP จะได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom (เนื่องจากในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัส COVID-19) และมีกิจกรรมสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ เพื่อนำผลการสะท้อนไปปรับปรุงแผนจัดการเรียนรู้ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป 
จากการสังเกตในห้องเรียนออนไลน์ พบว่า ทั้งผู้สอน ผู้เรียน และผู้ร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ รู้สึกตื่นเต้นและได้รับประโยชน์จากการสังเกตกิจกรรมในห้องเรียน โดยใช้ห้องเรียนเป็นนักเรียนห้องเรียน SMP-YRU ของโรงเรียนดำรงวิทยา ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ถึงแม้ว่าจะเป็นการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ อาจมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้างในการเข้าห้องเรียน จากปัญหาความไม่พร้อมของสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่นักเรียนก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ได้ทุกคน และมีความสนุกสนาน ตื่นเต้น สามารถประดิษฐ์ชิ้นงาน โดยใช้หลักการบูรณาการของศาสตร์ในสาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineer) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)

 

ผลจากการสะท้อนของผู้บริหาร ครูร่วมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ จะได้นำไปพัฒนาและปรับปรุงแผนจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และนำผลการวิจัยที่ได้จากการต่อยอดในโครงการ SMP-YRU ไปเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโรงเรียนในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป  

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

นักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษ SMP เข้าร่วมอบรมแนวคิดการสร้างนวัตกรรมจากยางพาารา ที่จัดขึ้นโดยสาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

  

    เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษ SMP ได้เข้าร่วมอบรมที่ทางสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้จัดกิจกรรมบริการวิชาการ ค่ายนักนวัตกรรมวัสดุรุ่นเยาว์ ภายใต้โครงการบริการวิชาการ เรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยศาสตร์บูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมรความคิดริเริ่มในการผลิตผลงานทางด้านนวัตกรรมวัสดุ ถ่ายทอดความรู้จากสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

แผนวิจัย PLC ประชุมการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ รายวิชาเคมี

  


 วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00-15.00 น. คณะกรรมการแผนวิจัย PLC ประชุมยกร่างแผนจัดการเรียนรู้ผ่านทางระบบออนไลน์ โดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ พร้อมด้วยคณะกรรมการดำเนินงาน และเจ้าหน้าที่ประจำแผนงานวิจัยฯ PLC ประชุมร่วมกับ ครูผู้สอนทั้ง 12 โรงเรียน  โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 23 คน จาก 12 โรงเรียน โดยจะมีการอบรมแผนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้

1.   การเขียนแผน

1.1    เป็นการเตรียมการวางแผนการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ

1.2    สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ + คำอธิบายรายวิชา + กระบวนการเรียนรู้

1.3    คำนึงถึงศักยภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ

1.4     แนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

1.5     มีเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอน และวิธีวัดผลประเมินผลที่ชัดเจน

1.6     ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนได้เหมาะสม ตรงตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ

2.   การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

2.1    หลักสูตร

- จัดการเรียนรู้เพื่ออะไร

- จัดการเรียนรู้อย่างไร

- ผู้เรียนสำคัญหรือไม่

- ผลการจัดการเรียนรู้เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่

2.2 แผนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย

1.    หัวเรื่อง

2.    สาระสำคัญ

3.    มาตรฐานและตัวชี้วัด

4.    จุดประสงค์การเรียนรู้

5.    สาระการเรียนรู้

6.    กระบวนการเรียนรู้

-    ขั้นนำ

-    ขั้นสอน

-    ขั้นสรุป

7.  สื่อ/อุปกรณ์/แหล่งการเรียนรู้

8.  การวัดและประเมินผล

9.  บันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้

อย่างไรก็ตามการจัดทำแผนการเรียนรู้นั้นก็ต้องมีความสอดคล้องกับบริบทนักเรียนโรงเรียน และชุมชน เช่นเดียวกัน โดยครูได้แชร์ประสบการณ์การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ในส่วนเนื้อหาสาระของแผนการสอนของโรงเรียนที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีรายละเอียดที่ครบถ้วนพอสมควร ที่จะนำมาต่อยอดแผนการจัดการเรียนรู้ PLC และเครื่องมือส่วนใหญ่ที่ครูได้ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิดจำเป็นต้องเรียนแบบออนไลน์นั้น ได้แก่ google classroom ร่วมกับ google meet และgoogle from เป็นต้น


การจัดทำแผนการเรียนรู้ PLC

                ที่ประชุมผู้ร่วมวิจัย ร่วมกันนำเสนอแผนการสอน PLC ให้ครูเข้าใจในกระบวนการจัดทำแผนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยมีขั้นตอนการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้

1.   ชื่อหน่วยการเรียนรู้

2.   บทเรียนในหน่วยการเรียนรู้:

3.   วัตถุประสงค์การจัดการเรียนรู้ของบทเรียน

4.   คำถามหลักสำหรับการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียน

5.   ลักษณะของงานที่มอบหมายให้นักเรียน

6.   สื่อและอุปกรณ์ที่จำเป็น

7.   โครงสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ทั่วไป

                            7.1   ขั้นเตรียมความพร้อม (สร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน และตรวจสอบความรู้เดิม
                                    (10 นาที)

7.2    ขั้นแนะนำหัวข้อหลักใน บทเรียน ( สำรวจ ) (15 นาที)

7.3   การแก้ไขปัญหา การรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ กิจกรรมการวางแผน การลงมือปฏิบัติ และการแปลความ(อธิบาย) (70 นาที)

7.4    การนำไปใช้จริง การบ้าน และการเชื่อมโยงกับสาระวิชาอื่น (5 นาที)

7.5   ขั้นสรุป (ประเมินผลการเรียนรู้ สะท้อนผลการเรียนรู้ และ การสะท้อนถึงความสมเหตุสมผล  (5 นาที)

8. สะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ของครู: ทราบได้อย่างไรว่าแผนการจัดการเรียนรู้นี้สำเร็จผลด้วยดี (ระบุหลักฐาน)

                          




    

********************************************************************

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

SMP-YRU ได้รับงบสนับสนุนงบประมาณ ปี พ.ศ. 2565 ให้ดำเนินการต่อเนื่อง (โรงเรียนใหม่อีก 3 โรงเรียน และร่วมมือพัฒนากับโรงเรียนเดิมอีก 12 โรงเรียน)

      

       การนำเสนอโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หรือ โครงการ SMP-YRU  ภายใต้แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ : โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในแนวทางการศึกษาเพื่อความมั่นคง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 (ทางออนไลน์) นับว่าเป็นโอกาสดีทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนเครือข่ายการพัฒนาของศูนย์สันติวิธี (สสว.) กอ.รมน.ภ.4 สน. ที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนให้พัฒนาห้องเรียน SMP-YRU โรงเรียนใหม่อีกจำนวน 3 โรงเรียน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะได้ดำเนินการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในเครือข่ายในโรงเรียนเดิมอีก 12 โรงเรียน อย่างต่อเนื่องต่อไป รวมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะมีนักเรียนในโครงการ SMP-YRU ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกัน  จำนวน  15 โรงเรียน มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในปีการศึกษาหน้า และที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วในโครงการนี้กว่า 2,000 คน (ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559) ผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติในห้องทดลอง (Lab) สร้างทักษะการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning: PjBL) เป็นกลยุทธ์การสอนเป็นหลัก สร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 มีโอกาสในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตนเองสนใจ สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนในพื้นที่ในการประกอบอาชีพที่มั่นคงในอนาคต เป็นห้องเรียนที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน 




       ขอขอบคุณมหาวิทยาลัย  ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะทำงาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ อย่างต่อเนื่องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีผลงานวิจัยประเมินความสำเร็จของโครงการที่เป็นรูปธรรม มีนักเรียนในโครงการจบชั้น ม. 6 และศึกษาต่อระดับปริญญาตรีมากกว่าร้อยละ 40 ที่เหลือศึกษาต่อด้านสังคมศาสตร์ ด้านศาสนา ประกอบอาชีพ และอื่น ๆ 

         ตัวอย่างที่นักเรียนชั้น ม. 6  สอบเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีได้ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์  ได้แก่ แพทยศาสตร์ 2 คน แพทย์แผนไทย 3 คน เทคนิคการแพทย์ 4 คน วิศวกรรมศาสตร์ 11 คน พยาบาลศาสตร์ 11 คน สาธารณสุขศาสตร์และอาชีวอนามัย 10 คน เทคนิคยานยนต์ 3 คน วิทยาการคอมพิวเตอร์ 10 คน นอกจากนั้นเป็นสาขา วิทยาศาสตร์ทั่วไป ฟิสิกส์อุตสาหกรรม เคมีเทคโนโลยีและนวัตกรรม คณิตศาสตร์  วิทยการธุรกิจสุขภาพ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและความงาม ทั้งนี้มีนักเรียนสนใจเข้าศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสาขาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 54 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2564) 

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โครงการ SMP-YRU กับความสำเร็จของโครงการ: คำบอกเล่าของนักเรียนในโครงการ

 
         มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (http://www.yru.ac.th) มหาวิทยาลัยคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้ เป็นเครือข่ายการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างโอกาสทางการศึกษา ปูพื้นฐานสร้างอาชีพในอนาคต โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา โดยมหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินงานโครงการ SMP-YRU ภายใต้แผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2564 ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 ปี โดยดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับโรงเรียนในเครือข่าย จำนวน 12 โรงเรียน พัฒนาห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในปีการศึกษา 2564 มีนักเรียนผ่านการพัฒนาในโครงการนี้จาก 12 โรงเรียน รวมจำนวน 1,799 คน และมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 3 รุ่น สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้แก่ แพทย์ศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล สาธารณสุขวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์การอาหาร ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์  โดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 40 ของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษา ม.6 ศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ส่วนที่เหลือศึกษาต่อด้านสังคมศาสตร์ ศาสนา และประกอบอาชีพ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของโครงการ SMP-YRU นับเป็นที่น่าพึงพอใจ (จากผลการวิจัยติดตามประเมินผลโครงการ)  

    สำหรับในปีการศึกษา 2564 ในท่ามกลางการแพร่ระบาดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้การพัฒนาและส่งเสริมห้องเรียนพิเศษในโครงการ SMP-YRU มีปัญหาและอุปสรรค อย่างไรก็ตาม ด้วยความพร้อมและโอกาสในการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ความพร้อมของสื่อการเรียนรู้ที่พัฒนาแบบออนไลน์ (http://e-smp.yru.ac.th) ทำให้นักเรียนในโครงการประสบความสำเร็จ ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีได้หลากหลายสาขา ... โดยเฉพาะสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์  จึงเสนอคลิปการกล่าวความรู้สึกของนักเรียนในโครงการบางส่วน เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนรุ่นน้อง ให้มีความพยายามและมุ่งมั่นเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ และสามารถศึกษาต่อปริญญาตรีในสาขาที่ตนเองชอบและถนัดต่อไป