วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2564

การสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงานโครงการ SMP-YRU ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meeting)

          วันที่ 21 กันยายน 2564 เวลา 09.00 - 12.30 น. โดยมีอาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหารเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลิลลา อดุลยศาสน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร คณะกรรมการดำเนินงานและเจ้าหน้าที่โครงการ SMP-YRU ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ด้วยโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program Yala Rajabhat: SMP-YRU) ในโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่จังหวัดยะลา ภายใต้แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้กำหนดจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสรุปผลการดำเนินงานโครงการ SMP-YRU ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meeting) ใน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มหาวิทยาลัยฯ รายงานผลการดำเนินงาน ปัญหา ข้อเสนอแนะ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับตัวแทนศูนย์สันติวิธี กอร.มน ภาค 4 ส่วนหน้า ตัวแทนสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา ผู้บริหาร คุณครู ผู้ปกครองและนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่าย 12 โรงเรียน เพื่อนำแนวทางมาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาโครงการ SMP-YRU ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริการวิชาการและสนับสนุนกิจกรรมพัฒนาครูและนักเรียนในโรงเรียนเครือข่าย




วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564

ผู้บริหารโครงการ SMP-YRU เสนอผลดำเนินงานต่ออนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการทหารและความมั่นคง วุฒิสภา

   วันศุกร์ที่ 17 กันยายน 2564 เวลา 09.00-12.00 น. อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับกองนโยบายและแผน เสนอรายงานผลการดำเนินงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และแผนดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ต่ออนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการทหารและความมั่นคง วุฒิสภา  ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์  

    ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการสร้างภูมิคุ้มกันในพื้นที่ จชต. ตามแผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกิจกรรมสำคัญ 2 กิจกรรม ได้แก่ 

กิจกรรมที่ 1  การปรับปรุงห้องปฏิบัติการในโรงเรียนเดิมรุ่นแรก 
             ตามที่ในปีงบประมาณ 2559 มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณเงินอุดหนุน เฉพาะหมวดสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ สนับสนุนการพัฒนาห้องเรียนพิเศษ SMP จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่  (1) โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง (2) โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง  (3) โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ ตำบลบะแต อำเภอยะหา (4) โรงเรียนดำรงวิทยา ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา (5) โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ ตำบลบาลอ อำเภอรามัน และ (6) โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต ซึ่งใช้ประโยชน์มานานกว่า 5 ปี จึงเน้นการปรับปรุงให้ห้องปฏิบัติการให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ใน 6 โรงเรียนเดิม ในรุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ซึ่งครุภัณฑ์และอุปกรณ์การเรียนปฏิบัติการเสื่อมสภาพ ชำรุด ต้องซ่อมแซม ปรับปรุง และจัดหาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนรุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการ สามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนชั้น ม.4 - ม.6 รวมทั้งนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียน สร้างโอกาสการศึกษาต่อปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นกำลังสำคัญของ Thailand 4.0


    กิจกรรมที่ 2 ปรับปรุงและพัฒนาห้องเรียน STEAM  (Science, Technology, Engineer, Art, Mathematics) 

          เป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายพัฒนา ห้องปฏิบัติการประดิษฐ์กรรม (Fabrication Laboratory) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า FabLab  ดำเนินการโดย คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร (http://science.yru.ac.th) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการศาสตร์ในด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะ และคณิตศาสตร์ ในโรงเรียน SMP-YRU และในสังกัด สพม. เพื่อ ปลูกฝัง เสริมสร้างแนวคิด เจตคติที่ดีต่อการศึกษาด้าน STEAM และการประกอบอาชีพในอนาคตด้านที่เกี่ยวข้อง เป็นการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักเรียนในพื้นที่ จชต. ด้วยการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา เน้นการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานในโรงเรียนพื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงดังกล่าว ทั้งโรงเรียนเดิมในโครงการ SMP-YRU (8 โรงเรียน) และโรงเรียนเครือข่ายพัฒนาของมหาวิทยาลัย (4 โรงเรียน) รวม 12 โรงเรียน  ได้แก่ 

1) โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ (สพม.)
2) โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา  (สช.)
3) โรงเรียนเบตงวีระราษฎร์ประสาน (สพม.) 
4) โรงเรียนสตรียะลา (สพม.)
5) โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ (SMP-YRU)
6) โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิยะลา (SMP-YRU)
7) โรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา (SMP-YRU) 
8) โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ (SMP-YRU)
9) โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ (SMP-YRU)
10) โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา (SMP-YRU)
11) โรงเรียนดำรงวิทยา (SMP-YRU)
12) โรงเรียนคัมภีร์วิทยา (SMP-YRU)

   ผลประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินงานในโครงการ SMP-YRU ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะส่งผลให้นักเรียนระดับชั้น ม.4-ม.6 ในโรงเรียน SMP-YRU จากทั้ง 12 โรงเรียน ได้รับโอกาสทางการศึกษา ลดช่องว่างทางการศึกษา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี จำนวนไม่น้อยกว่า 2,000 คน ผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน ครู ของโรงเรียน ประชาชนในพื้นที่ตั้งของโรงเรียน เกิดการรับรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานของโครงการ SMP-YRU แบบบูรณาการ เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เยาวชน โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป


วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564

กิจกรรมเปิดห้องเรียนสาธิต PLC-SMP-YRU e-Learning รายวิชาเคมี ระดับชั้น ม.4


 วันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 09.00-11.00 น. แผนงานวิจัยการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) โครงการวิจัยย่อยที่ 3 การจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งผ่านกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (SMP-YRU)  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้วิจัยโดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี หัวหน้าแผนงานวิจัยและเป็นหัวหน้าโครงการ SMP-YRU จัดกิจกรรมเปิด 

     ห้องเรียนสาธิตจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง โดยใช้แผนจัดการเรียนรู้วิชาเคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง ความเข้มข้นของสารละลาย ซึ่งเกิดจากการพัฒนาร่วมกันของสมาชิกชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูเคมี ประกอบด้วยผู้บริหาร ครู นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัย ที่สนใจการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนด้วยรูปแบบอีเลิร์นนิ่ง สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน และสร้างทักษะการจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งให้แก่ครูผู้สอนในการพัฒนาตนเองให้เหมาะกับบริบทสไตล์การเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งเป็นคนในยุค Gen Z ที่เกิดมาพร้อม ๆ กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีออนไลน์

       การจัดกิจกรรมเปิดห้องเรียนหรือชั้นเรียนสาธิตครั้งนี้ จัดกิจกรรมสาธิตการจัดการเรียนรู้ทางออนไลน์ตามรูปแบบจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง ได้แก่ การจัดการชั้นเรียนผ่าน Google Classroom ร่วมกับ Google Meet และยังมีแอพลิเคชั่นสนับสนุนการติดต่อสื่อสาร การทำแบบทดสอบ การทำแบบฝึกหัดด้วยเกม โดยมี ครูสตารีย๊ะ มะลี จากโรงเรียนประทีปวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนในเครือข่าย SMP-YRU และมีกลุ่มทดลองเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 35 คน เรียนผ่านชั้นเรียน Google Classroom  

หลังจากจัดกิจกรรมสาธิตการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งเสร็จสิ้นแล้ว ได้จัดให้มีกิจกรรมการสะท้อนผลจากการสังเกตการณ์การจัดการเรียนรู้จากครูผู้สอน ผู้บริหาร ครูในชุมชน PLC-SMP-YRU eLearning ผู้เชี่ยวชาญ ผู้นิเทศก์ ในประเด็นความประทับใจ ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงแผนจัดการเรียนรู้ และกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ ซึ่งผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์จะได้เผยแพร่เพื่อแลกเปลี่ยนในโอกาสต่อไป 

วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564

คณะทำงานประชุมเตรียมการเปิดห้องเรียนสาธิต PLC-SMP-YRU e-Learning

 วันที่ 1 กันยายน 2563 คณะทำงานพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ การพัฒนาการเรียนรู้ในรูปแบบอีเลิร์นนิ่ง หรือ PLC-SMP-YRU e-Learning ในโครงการวิจัย   ตามแผนงานวิจัย แผนงานวิจัยการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) โดยการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้จากห้องเรียนสาธิต (OPEN CLASS) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร/หัวหน้าแผนงานวิจัย และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยย่อย  โครงการวิจัยที่ 3 การจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งผ่านกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (SMP-YRU)   ได้จัดกิจกรรมประชุมออนไลน์ เพื่อเตรียมการจัดกิจกรรมทดลองเปิดห้องเรียนสาธิต (Open Classroom) จัดการเรียนรู้ตามแผนจัดการเรียนรู้และรูปแบบจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง ในรายวิชาเคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง ความเข้มข้นของสารละลายในวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 นี้



   ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ตามแผนใน วันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 09.00-11.00 น. ผ่านระบบการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ด้วย Google Classroom, Google Meet, Google App for Education และ Kahoot Game Application และจะจัดกิจกรรมสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ผ่านการประชุมออนไลน์ใน เวลา 11.00-12.30 น. โดยจัดการเรียนรู้ครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนชั้น ม. 4 โครงการ SMP-YRU โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ประมาณ 60 คน พร้อมเชิญผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ประจำโรงเรียน ผู้เชี่ยวชาญ และผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการจัดการเรียนรู้ออนไลน์พร้อมกัน    

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

PLC SMP-YRU จัดกิจกรรมทดลองเปิดห้องเรียนสาธิต (Open Classroom) แผนจัดการเรียนรู้รายวิชาเคมี ระดับชั้น ม.4 แบบ STEM

วันที่ 30 สิงหาคม 2564 เวลา 09.00-12.00 น. ที่ผ่านมา โครงการ SMP-YRU โดย  แผนงานวิจัยการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) โดยการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้จากห้องเรียนสาธิต (OPEN CLASS) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร/หัวหน้าแผนงานวิจัย และหัวหน้าโครงการวิจัยย่อย พร้อมด้วยคณะนักวิจัย ด้รับงบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จำนวน 3 โครงการย่อย จัดกิจกรรมเปิดห้องเรียนสาธิต (Open Classroom) ในโครงการวิจัยย่อย โครงการวิจัยที่ 1 การพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา ผ่านกระบวนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ Professional Learning Community (PLC) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้ มัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  โดยมี อาจารย์ปิยศิริ สุนทรนนท์ สินไชย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และ อาจารย์อลภา ทองไชย  อาจารย์ ดร.วารุณี หะยีมะสาและ เป็นผู้ร่วมวิจัย ได้จัดกิจกรรมสาธิตการเปิดห้องเรียน ที่เป็นผลงานจากชุมชนการเรียนรู้ หรือ PLC-SMP-YRU ที่ร่วมกันพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ตามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกันเมื่อวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา (https://smp-yru.blogspot.com/search?q=plc)  
 

สำหรับกิจกรรมวันนี้ นับเป็นกิจกรรมสำคัญของโครงการวิจัย ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนา PLC-SMP จะได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียนออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom (เนื่องจากในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัส COVID-19) และมีกิจกรรมสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ เพื่อนำผลการสะท้อนไปปรับปรุงแผนจัดการเรียนรู้ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป 
จากการสังเกตในห้องเรียนออนไลน์ พบว่า ทั้งผู้สอน ผู้เรียน และผู้ร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ รู้สึกตื่นเต้นและได้รับประโยชน์จากการสังเกตกิจกรรมในห้องเรียน โดยใช้ห้องเรียนเป็นนักเรียนห้องเรียน SMP-YRU ของโรงเรียนดำรงวิทยา ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ถึงแม้ว่าจะเป็นการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ อาจมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้างในการเข้าห้องเรียน จากปัญหาความไม่พร้อมของสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่นักเรียนก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ได้ทุกคน และมีความสนุกสนาน ตื่นเต้น สามารถประดิษฐ์ชิ้นงาน โดยใช้หลักการบูรณาการของศาสตร์ในสาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineer) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)

 

ผลจากการสะท้อนของผู้บริหาร ครูร่วมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ จะได้นำไปพัฒนาและปรับปรุงแผนจัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และนำผลการวิจัยที่ได้จากการต่อยอดในโครงการ SMP-YRU ไปเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโรงเรียนในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป  

วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

นักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษ SMP เข้าร่วมอบรมแนวคิดการสร้างนวัตกรรมจากยางพาารา ที่จัดขึ้นโดยสาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

  

    เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษ SMP ได้เข้าร่วมอบรมที่ทางสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้จัดกิจกรรมบริการวิชาการ ค่ายนักนวัตกรรมวัสดุรุ่นเยาว์ ภายใต้โครงการบริการวิชาการ เรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยศาสตร์บูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมรความคิดริเริ่มในการผลิตผลงานทางด้านนวัตกรรมวัสดุ ถ่ายทอดความรู้จากสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

แผนวิจัย PLC ประชุมการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ รายวิชาเคมี

  


 วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00-15.00 น. คณะกรรมการแผนวิจัย PLC ประชุมยกร่างแผนจัดการเรียนรู้ผ่านทางระบบออนไลน์ โดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ พร้อมด้วยคณะกรรมการดำเนินงาน และเจ้าหน้าที่ประจำแผนงานวิจัยฯ PLC ประชุมร่วมกับ ครูผู้สอนทั้ง 12 โรงเรียน  โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 23 คน จาก 12 โรงเรียน โดยจะมีการอบรมแผนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้

1.   การเขียนแผน

1.1    เป็นการเตรียมการวางแผนการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ

1.2    สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ + คำอธิบายรายวิชา + กระบวนการเรียนรู้

1.3    คำนึงถึงศักยภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ

1.4     แนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน

1.5     มีเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอน และวิธีวัดผลประเมินผลที่ชัดเจน

1.6     ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนได้เหมาะสม ตรงตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ

2.   การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

2.1    หลักสูตร

- จัดการเรียนรู้เพื่ออะไร

- จัดการเรียนรู้อย่างไร

- ผู้เรียนสำคัญหรือไม่

- ผลการจัดการเรียนรู้เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่

2.2 แผนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย

1.    หัวเรื่อง

2.    สาระสำคัญ

3.    มาตรฐานและตัวชี้วัด

4.    จุดประสงค์การเรียนรู้

5.    สาระการเรียนรู้

6.    กระบวนการเรียนรู้

-    ขั้นนำ

-    ขั้นสอน

-    ขั้นสรุป

7.  สื่อ/อุปกรณ์/แหล่งการเรียนรู้

8.  การวัดและประเมินผล

9.  บันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้

อย่างไรก็ตามการจัดทำแผนการเรียนรู้นั้นก็ต้องมีความสอดคล้องกับบริบทนักเรียนโรงเรียน และชุมชน เช่นเดียวกัน โดยครูได้แชร์ประสบการณ์การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ในส่วนเนื้อหาสาระของแผนการสอนของโรงเรียนที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีรายละเอียดที่ครบถ้วนพอสมควร ที่จะนำมาต่อยอดแผนการจัดการเรียนรู้ PLC และเครื่องมือส่วนใหญ่ที่ครูได้ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิดจำเป็นต้องเรียนแบบออนไลน์นั้น ได้แก่ google classroom ร่วมกับ google meet และgoogle from เป็นต้น


การจัดทำแผนการเรียนรู้ PLC

                ที่ประชุมผู้ร่วมวิจัย ร่วมกันนำเสนอแผนการสอน PLC ให้ครูเข้าใจในกระบวนการจัดทำแผนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยมีขั้นตอนการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้

1.   ชื่อหน่วยการเรียนรู้

2.   บทเรียนในหน่วยการเรียนรู้:

3.   วัตถุประสงค์การจัดการเรียนรู้ของบทเรียน

4.   คำถามหลักสำหรับการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียน

5.   ลักษณะของงานที่มอบหมายให้นักเรียน

6.   สื่อและอุปกรณ์ที่จำเป็น

7.   โครงสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ทั่วไป

                            7.1   ขั้นเตรียมความพร้อม (สร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน และตรวจสอบความรู้เดิม
                                    (10 นาที)

7.2    ขั้นแนะนำหัวข้อหลักใน บทเรียน ( สำรวจ ) (15 นาที)

7.3   การแก้ไขปัญหา การรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ กิจกรรมการวางแผน การลงมือปฏิบัติ และการแปลความ(อธิบาย) (70 นาที)

7.4    การนำไปใช้จริง การบ้าน และการเชื่อมโยงกับสาระวิชาอื่น (5 นาที)

7.5   ขั้นสรุป (ประเมินผลการเรียนรู้ สะท้อนผลการเรียนรู้ และ การสะท้อนถึงความสมเหตุสมผล  (5 นาที)

8. สะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ของครู: ทราบได้อย่างไรว่าแผนการจัดการเรียนรู้นี้สำเร็จผลด้วยดี (ระบุหลักฐาน)

                          




    

********************************************************************

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

SMP-YRU ได้รับงบสนับสนุนงบประมาณ ปี พ.ศ. 2565 ให้ดำเนินการต่อเนื่อง (โรงเรียนใหม่อีก 3 โรงเรียน และร่วมมือพัฒนากับโรงเรียนเดิมอีก 12 โรงเรียน)

      

       การนำเสนอโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หรือ โครงการ SMP-YRU  ภายใต้แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ : โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในแนวทางการศึกษาเพื่อความมั่นคง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 (ทางออนไลน์) นับว่าเป็นโอกาสดีทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนเครือข่ายการพัฒนาของศูนย์สันติวิธี (สสว.) กอ.รมน.ภ.4 สน. ที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนให้พัฒนาห้องเรียน SMP-YRU โรงเรียนใหม่อีกจำนวน 3 โรงเรียน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะได้ดำเนินการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในเครือข่ายในโรงเรียนเดิมอีก 12 โรงเรียน อย่างต่อเนื่องต่อไป รวมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะมีนักเรียนในโครงการ SMP-YRU ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกัน  จำนวน  15 โรงเรียน มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในปีการศึกษาหน้า และที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วในโครงการนี้กว่า 2,000 คน (ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559) ผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติในห้องทดลอง (Lab) สร้างทักษะการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning: PjBL) เป็นกลยุทธ์การสอนเป็นหลัก สร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 มีโอกาสในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตนเองสนใจ สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนในพื้นที่ในการประกอบอาชีพที่มั่นคงในอนาคต เป็นห้องเรียนที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน 




       ขอขอบคุณมหาวิทยาลัย  ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะทำงาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ อย่างต่อเนื่องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีผลงานวิจัยประเมินความสำเร็จของโครงการที่เป็นรูปธรรม มีนักเรียนในโครงการจบชั้น ม. 6 และศึกษาต่อระดับปริญญาตรีมากกว่าร้อยละ 40 ที่เหลือศึกษาต่อด้านสังคมศาสตร์ ด้านศาสนา ประกอบอาชีพ และอื่น ๆ 

         ตัวอย่างที่นักเรียนชั้น ม. 6  สอบเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีได้ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์  ได้แก่ แพทยศาสตร์ 2 คน แพทย์แผนไทย 3 คน เทคนิคการแพทย์ 4 คน วิศวกรรมศาสตร์ 11 คน พยาบาลศาสตร์ 11 คน สาธารณสุขศาสตร์และอาชีวอนามัย 10 คน เทคนิคยานยนต์ 3 คน วิทยาการคอมพิวเตอร์ 10 คน นอกจากนั้นเป็นสาขา วิทยาศาสตร์ทั่วไป ฟิสิกส์อุตสาหกรรม เคมีเทคโนโลยีและนวัตกรรม คณิตศาสตร์  วิทยการธุรกิจสุขภาพ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและความงาม ทั้งนี้มีนักเรียนสนใจเข้าศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสาขาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 54 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2564) 

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

โครงการ SMP-YRU กับความสำเร็จของโครงการ: คำบอกเล่าของนักเรียนในโครงการ

 
         มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (http://www.yru.ac.th) มหาวิทยาลัยคลังปัญญาแห่งชายแดนใต้ เป็นเครือข่ายการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา สร้างโอกาสทางการศึกษา ปูพื้นฐานสร้างอาชีพในอนาคต โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา โดยมหาวิทยาลัยฯ ได้ดำเนินงานโครงการ SMP-YRU ภายใต้แผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2564 ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 6 ปี โดยดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับโรงเรียนในเครือข่าย จำนวน 12 โรงเรียน พัฒนาห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในปีการศึกษา 2564 มีนักเรียนผ่านการพัฒนาในโครงการนี้จาก 12 โรงเรียน รวมจำนวน 1,799 คน และมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สำเร็จการศึกษาไปแล้ว 3 รุ่น สามารถศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้แก่ แพทย์ศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล สาธารณสุขวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์การอาหาร ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์  โดยเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 40 ของนักเรียนที่สำเร็จการศึกษา ม.6 ศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ส่วนที่เหลือศึกษาต่อด้านสังคมศาสตร์ ศาสนา และประกอบอาชีพ ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของโครงการ SMP-YRU นับเป็นที่น่าพึงพอใจ (จากผลการวิจัยติดตามประเมินผลโครงการ)  

    สำหรับในปีการศึกษา 2564 ในท่ามกลางการแพร่ระบาดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้การพัฒนาและส่งเสริมห้องเรียนพิเศษในโครงการ SMP-YRU มีปัญหาและอุปสรรค อย่างไรก็ตาม ด้วยความพร้อมและโอกาสในการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ความพร้อมของสื่อการเรียนรู้ที่พัฒนาแบบออนไลน์ (http://e-smp.yru.ac.th) ทำให้นักเรียนในโครงการประสบความสำเร็จ ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีได้หลากหลายสาขา ... โดยเฉพาะสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์  จึงเสนอคลิปการกล่าวความรู้สึกของนักเรียนในโครงการบางส่วน เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนรุ่นน้อง ให้มีความพยายามและมุ่งมั่นเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ และสามารถศึกษาต่อปริญญาตรีในสาขาที่ตนเองชอบและถนัดต่อไป

   

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564

คณะกรรมการแผนวิจัยประชุมเพื่อดำเนินการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพโดยผ่านกระบวนการ PLC รายวิชาเคมี

  




            วันที่ 24 มิถุนายน 2564  แผนงานวิจัยพัฒนาการจัดการเรียนรู้ โดยผ่านกระบวนการ PLC จัดประชุมเพื่อดำเนินการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพโดยผ่านกระบวนการ PLC รายวิชาเคมี ประชุมร่วมกับ ผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการ หัวหน้าหมวดรายวิชาเคมี และครูผู้สอนทั้ง 12 โรงเรียน  โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 27 คน จาก 12 โรงเรียน ได้แก่ 
                (1) โรงเรียนดำรงวิทยา 
                (2) โรงเรียนคัมภีร์วิทยา 
                (3) โรงเรียนประทีบวิทยา 
                (4) โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ 
                (5) โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา 
                (6) โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ 
                (7) โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา 
                (8) โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ 
                (9) โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ 
               (10)โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ 
               (11)โรงเรียนดารุลฮูดาห์วิทยา 
               (12)โรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา 

 ซึ่งการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันวิเคราะห์สภาพปัญหาและวางแผนการดำเนินการพัฒนาจัดตั้งชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพหรือ PLC ร่วมกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนงานวิจัยและเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ที่ได้จัดทำร่วมกันไว้แล้วต่อไป 
ซึ่งการประชุมออนไลน์ครั้งนี้ มี อ.ดร. ศฺริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.นิสาพร มูหะมัด และอาจาร์ปิยศิริ สุนทรนนท์ สินไชย ผู้ร่วมวิจัย และผู้ช่วยวิจัย PLC เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้













วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ขอแสดงความยินดีแก่นักเรียนในโครงการ SMP-YRU ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา

          โครงการ SMP-YRU ภายใต้กำกับการดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ขอแสดงความยินดีแก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รุ่นที่ 3 ประจำปีการศึกษา 2563 ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดยะลาที่เข้าร่วมโครงการ SMP-YRU ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 9 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา โรงเรียนดำรงวิทยา โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ โรงเรียนประทีปวิทยา และโรงเรียนคัมภีร์วิทยา ทั้งนี้ทางโครงการ SMP-YRU กำลังติดตามผลกับโรงเรียนเครือข่าย และนี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งของนักเรียนที่ได้ผ่านคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทางโครงการ SMP-YRU และจะรายงานความคืบหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป