วันที่ 1 กันยายน 2563 คณะทำงานพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ การพัฒนาการเรียนรู้ในรูปแบบอีเลิร์นนิ่ง หรือ PLC-SMP-YRU e-Learning ในโครงการวิจัย ตามแผนงานวิจัย แผนงานวิจัยการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) โดยการสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้จากห้องเรียนสาธิต (OPEN CLASS) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร/หัวหน้าแผนงานวิจัย และเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยย่อย โครงการวิจัยที่ 3 การจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่งผ่านกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ในรายวิชาเคมี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (SMP-YRU) ได้จัดกิจกรรมประชุมออนไลน์ เพื่อเตรียมการจัดกิจกรรมทดลองเปิดห้องเรียนสาธิต (Open Classroom) จัดการเรียนรู้ตามแผนจัดการเรียนรู้และรูปแบบจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง ในรายวิชาเคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง ความเข้มข้นของสารละลายในวันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 นี้
วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564
คณะทำงานประชุมเตรียมการเปิดห้องเรียนสาธิต PLC-SMP-YRU e-Learning
วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564
PLC SMP-YRU จัดกิจกรรมทดลองเปิดห้องเรียนสาธิต (Open Classroom) แผนจัดการเรียนรู้รายวิชาเคมี ระดับชั้น ม.4 แบบ STEM
จากการสังเกตในห้องเรียนออนไลน์ พบว่า ทั้งผู้สอน ผู้เรียน และผู้ร่วมสังเกตการณ์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญ รู้สึกตื่นเต้นและได้รับประโยชน์จากการสังเกตกิจกรรมในห้องเรียน โดยใช้ห้องเรียนเป็นนักเรียนห้องเรียน SMP-YRU ของโรงเรียนดำรงวิทยา ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา ถึงแม้ว่าจะเป็นการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ อาจมีปัญหาอุปสรรคอยู่บ้างในการเข้าห้องเรียน จากปัญหาความไม่พร้อมของสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่นักเรียนก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ได้ทุกคน และมีความสนุกสนาน ตื่นเต้น สามารถประดิษฐ์ชิ้นงาน โดยใช้หลักการบูรณาการของศาสตร์ในสาขาวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรม (Engineer) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)
วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
นักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษ SMP เข้าร่วมอบรมแนวคิดการสร้างนวัตกรรมจากยางพาารา ที่จัดขึ้นโดยสาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
แผนวิจัย PLC ประชุมการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ รายวิชาเคมี
1. การเขียนแผน
1.1 เป็นการเตรียมการวางแผนการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ
1.2 สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ + คำอธิบายรายวิชา + กระบวนการเรียนรู้
1.3 คำนึงถึงศักยภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ
1.4 แนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
1.5 มีเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอน และวิธีวัดผลประเมินผลที่ชัดเจน
1.6 ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนได้เหมาะสม ตรงตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ
2. การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน
2.1 หลักสูตร
- จัดการเรียนรู้เพื่ออะไร
- จัดการเรียนรู้อย่างไร
- ผู้เรียนสำคัญหรือไม่
- ผลการจัดการเรียนรู้เป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่
2.2 แผนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย
1. หัวเรื่อง
2. สาระสำคัญ
3. มาตรฐานและตัวชี้วัด
4. จุดประสงค์การเรียนรู้
5. สาระการเรียนรู้
6. กระบวนการเรียนรู้
- ขั้นนำ
- ขั้นสอน
- ขั้นสรุป
7. สื่อ/อุปกรณ์/แหล่งการเรียนรู้
8. การวัดและประเมินผล
9. บันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้
อย่างไรก็ตามการจัดทำแผนการเรียนรู้นั้นก็ต้องมีความสอดคล้องกับบริบทนักเรียนโรงเรียน และชุมชน เช่นเดียวกัน โดยครูได้แชร์ประสบการณ์การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ในส่วนเนื้อหาสาระของแผนการสอนของโรงเรียนที่มีอยู่แล้ว ซึ่งมีรายละเอียดที่ครบถ้วนพอสมควร ที่จะนำมาต่อยอดแผนการจัดการเรียนรู้ PLC และเครื่องมือส่วนใหญ่ที่ครูได้ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิดจำเป็นต้องเรียนแบบออนไลน์นั้น ได้แก่ google classroom ร่วมกับ google meet และgoogle from เป็นต้น
การจัดทำแผนการเรียนรู้ PLC
ที่ประชุมผู้ร่วมวิจัย ร่วมกันนำเสนอแผนการสอน PLC ให้ครูเข้าใจในกระบวนการจัดทำแผนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โดยมีขั้นตอนการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้
1. ชื่อหน่วยการเรียนรู้
2. บทเรียนในหน่วยการเรียนรู้:
3. วัตถุประสงค์การจัดการเรียนรู้ของบทเรียน
4. คำถามหลักสำหรับการตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียน
5. ลักษณะของงานที่มอบหมายให้นักเรียน
6. สื่อและอุปกรณ์ที่จำเป็น
7. โครงสร้างแผนการจัดการเรียนรู้ทั่วไป
7.2 ขั้นแนะนำหัวข้อหลักใน บทเรียน ( สำรวจ ) (15 นาที)
7.3 การแก้ไขปัญหา การรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์ กิจกรรมการวางแผน การลงมือปฏิบัติ และการแปลความ(อธิบาย) (70 นาที)
7.4 การนำไปใช้จริง การบ้าน และการเชื่อมโยงกับสาระวิชาอื่น (5 นาที)
7.5 ขั้นสรุป (ประเมินผลการเรียนรู้ สะท้อนผลการเรียนรู้ และ การสะท้อนถึงความสมเหตุสมผล (5 นาที)
8. สะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ของครู: ทราบได้อย่างไรว่าแผนการจัดการเรียนรู้นี้สำเร็จผลด้วยดี (ระบุหลักฐาน)
วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
SMP-YRU ได้รับงบสนับสนุนงบประมาณ ปี พ.ศ. 2565 ให้ดำเนินการต่อเนื่อง (โรงเรียนใหม่อีก 3 โรงเรียน และร่วมมือพัฒนากับโรงเรียนเดิมอีก 12 โรงเรียน)
การนำเสนอโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หรือ โครงการ SMP-YRU ภายใต้แผนบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ : โครงการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ในแนวทางการศึกษาเพื่อความมั่นคง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 (ทางออนไลน์) นับว่าเป็นโอกาสดีทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในพื้นที่จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนเครือข่ายการพัฒนาของศูนย์สันติวิธี (สสว.) กอ.รมน.ภ.4 สน. ที่ได้รับงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนให้พัฒนาห้องเรียน SMP-YRU โรงเรียนใหม่อีกจำนวน 3 โรงเรียน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะได้ดำเนินการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนในเครือข่ายในโรงเรียนเดิมอีก 12 โรงเรียน อย่างต่อเนื่องต่อไป รวมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จะมีนักเรียนในโครงการ SMP-YRU ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกัน จำนวน 15 โรงเรียน มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในปีการศึกษาหน้า และที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วในโครงการนี้กว่า 2,000 คน (ดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559) ผ่านกระบวนการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติในห้องทดลอง (Lab) สร้างทักษะการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning: PjBL) เป็นกลยุทธ์การสอนเป็นหลัก สร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 มีโอกาสในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตนเองสนใจ สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนในพื้นที่ในการประกอบอาชีพที่มั่นคงในอนาคต เป็นห้องเรียนที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับโรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน
ขอขอบคุณมหาวิทยาลัย ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะทำงาน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการนี้ อย่างต่อเนื่องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ มีผลงานวิจัยประเมินความสำเร็จของโครงการที่เป็นรูปธรรม มีนักเรียนในโครงการจบชั้น ม. 6 และศึกษาต่อระดับปริญญาตรีมากกว่าร้อยละ 40 ที่เหลือศึกษาต่อด้านสังคมศาสตร์ ด้านศาสนา ประกอบอาชีพ และอื่น ๆ
ตัวอย่างที่นักเรียนชั้น ม. 6 สอบเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีได้ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ได้แก่ แพทยศาสตร์ 2 คน แพทย์แผนไทย 3 คน เทคนิคการแพทย์ 4 คน วิศวกรรมศาสตร์ 11 คน พยาบาลศาสตร์ 11 คน สาธารณสุขศาสตร์และอาชีวอนามัย 10 คน เทคนิคยานยนต์ 3 คน วิทยาการคอมพิวเตอร์ 10 คน นอกจากนั้นเป็นสาขา วิทยาศาสตร์ทั่วไป ฟิสิกส์อุตสาหกรรม เคมีเทคโนโลยีและนวัตกรรม คณิตศาสตร์ วิทยการธุรกิจสุขภาพ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอางและความงาม ทั้งนี้มีนักเรียนสนใจเข้าศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และสาขาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 54 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2564)
วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2564
โครงการ SMP-YRU กับความสำเร็จของโครงการ: คำบอกเล่าของนักเรียนในโครงการ
สำหรับในปีการศึกษา 2564 ในท่ามกลางการแพร่ระบาดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ทำให้การพัฒนาและส่งเสริมห้องเรียนพิเศษในโครงการ SMP-YRU มีปัญหาและอุปสรรค อย่างไรก็ตาม ด้วยความพร้อมและโอกาสในการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ความพร้อมของสื่อการเรียนรู้ที่พัฒนาแบบออนไลน์ (http://e-smp.yru.ac.th) ทำให้นักเรียนในโครงการประสบความสำเร็จ ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีได้หลากหลายสาขา ... โดยเฉพาะสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ จึงเสนอคลิปการกล่าวความรู้สึกของนักเรียนในโครงการบางส่วน เพื่อกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนรุ่นน้อง ให้มีความพยายามและมุ่งมั่นเรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ และสามารถศึกษาต่อปริญญาตรีในสาขาที่ตนเองชอบและถนัดต่อไป
วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564
คณะกรรมการแผนวิจัยประชุมเพื่อดำเนินการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพโดยผ่านกระบวนการ PLC รายวิชาเคมี