ในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดี ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (http://sirichai.yru.ac.th) ได้รับมอบหมายจากอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภักยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ พร้อม ผู้ช่วยเกสรี ลัดเลีย และคุณมนตรี อุดมพงษ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองนโยบายและแผน (
http://president.yru.ac.th/plan) ให้เดินทางไปนำเสนอและสนับสนุนข้อมูลสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเสนอคำของบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ณ อาคารรัฐสภา อาคาร 2 กรุงเทพมหานคร โดยส่วนราชการจะต้องเสนอของบประมาณนอกเหนือจากงบพื้นฐานเป็นโครงการภายใต้แผนบูรณาการ (
http://www.bb.go.th/bbweb/?page_id=7045) ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้เสนอโครงการของบประมาณภายใต้งบบูรณาการ
"แผนบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้" อย่างต่อเนื่องมาตลอดมากกว่า 3 ปี โดยโครงการการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program: SMP) เป็นกิจกรรมสำคัญกิจกรรมหนึ่งของโครงการหลักของมหาวิทยาลัยภายใต้ชื่อโครงการคือ "การพัฒนาคุณภาพาสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาชายแดนใต้"
ผลการนำเสนองบประมาณภายใต้ "แผนบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต่อคณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างที่ปรึกษา (งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 โครงการ SMP ไม่มีข้อเสนอแนะให้ปรับแก้ใดๆ ซึ่งคาดว่าโครงการและงบประมาณที่เสนอดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 จะเป็นไปตามที่เสนอขอ ทั้งนี้ ต้องรอผลการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2561 ในวาระที่ 2,3 ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะประชุม 31 สิงหาคม 2560 และคาดว่าจะเรียบร้อยด้วยดี และผ่านเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561 และประกาศใช้ต่อไป
ดังนั้นในการดำเนินงานโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รับผิดชอบพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในเขตจังหวัดยะลา และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รับผิดชอบสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาฯในจังหวัดปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ รับผิดชอบสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาฯ ในจังหวัดนราธิวาส จะได้ดำเนินงานการอย่างต่อเนื่องต่อไป และสร้างความเข้มแข็งการบูรณาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สำนักงานการศึกษาเอกชน โรงเรียนในโครงการ นักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อให้ห้องเรียน SMP ของโรงเรียนในโครงการได้รับพัฒนาจนสำเร็จตามเป้าหมายต่อไป อีกทั้ง ห้องเรียน SMP จะเป็นโครงการสำคัญในการสนับสนุนการจัดตั้ง "สถาบันพัฒนาครูและบุคลากรชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" (
http://pts.yru.ac.th) ให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะยังคงพัฒนานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4,5,6 ครูและผู้บริหาร ผู้ปกครองโรงเรียนเครือข่ายเดิม 6 โรงเรียน และเพิ่มกลุ่มเป้าหมายโรงเรียนใหม่อีกจำนวน 3 โรงเรียน โดยรับนักเรียนรุ่นแรกของ 3 โรงเรียนใหม่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนละ 1 ห้อง ห้องละ 40 คน สำหรับโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือก จะประกาศแนวทางและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการต่อไป