วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เจ้าหน้าที่นักวิทยาศาสตร์โครงการ SMP ลงพื้นที่โรงเรียนเครือข่าย โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา

เจ้าหน้าที่นักวิทยาศาสตร์โครงการ SMP ลงพื้นที่โรงเรียนเครือข่าย โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา

       ระหว่างวันที่ 19 - 20 ตุลาคม 2559 เจ้าหน้าที่นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ SMP ลงพื้นที่      โรงเรียนเครือข่าย เพื่อดำเนินการจัดห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ณ โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา อ.ธารโต เพื่อให้ห้องปฏิบัติการพร้อมให้บริการทัน ในภาคเรียนการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2559 นี้
      













วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ประชุมบุคลากรประจำโครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประจำปี 2560

 โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประจำปี พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 จัดประชุมเพื่อเตรียมการดำเนินงานตามแผนงานและกิจกรรม เพื่อเร่งดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ โดยเน้นให้ดำเนินงานและเบิกจ่ายงบประมาณตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
   ในการประชุมครั้งนี้ ยังได้มอบหมายงาน (KPIs) ให้เจ้าหน้าที่ประจำโครงการ ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการประจำโรงเรียนเพื่อจัดห้องปฏิบัติการ ดูแล และให้บริการแก่ผู้สอน และนักเรียนในโครงการ SMP เน้นให้นักเรียนสามารถสร้างผลงานจากโครงการ โดยการใช้ประโยชน์จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่โครงการได้ดำเนินการพัฒนามาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559
   สำหรับแนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 นี้ โครงการ SMP จะขยายการรับนักเรียนใหม่เป็นปีที่ 2 (รับ ม.4 ประจำปีการศึกษา 2560) รวมจำนวน 260 คน กระจายจำนวนไปยัง 6 โรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ โดยเน้นการพัฒนาตัวครูผู้สอน นักเรียน อาจารย์นิเทศ การนิเทศติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการประเมินผลโครงการด้วยกระบวนการวิจัยอย่างต่อเนื่องต่อไป


วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559

คณะกรรมการตรวจรับการงานพัฒนาและปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิทย์-คณิต ในโครงการ SMP

ภาพเพิ่มเติม...
ระหว่างวันที่ 20-21 กันยายน 2559 คณะกรรมการคุมงานและตรวจรับการจ้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ ลงพื้นที่ 6 โรงเรียนเครือข่าย เพื่อตรวจรับงานก่อสร้างและปรับปรุงห้องปฏิบัติการ เพื่อเร่งรัดให้สามารถใช้งานได้ทันในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 นี้ คาดว่าจะเป็นห้องปฏิบัติการที่สามารถสนับสนุนการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ที่ได้มาตรฐานระดับหนึ่ง และเป็นห้องปฏิบัติการที่ใช้สอนทักษะการทดลองทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาโครงงานด้านวิทยาศาสตร์ หรือโครงการด้านคณิตศาสตร์ต่อไป ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการติดตั้งและจัดครุภัณฑ์ประจำห้อง ได้แก่ โต๊ะ เก้าอี้ ตู้เก็บเครื่องมืออุปกรณ์ Projector และกระดานไวท์บอร์ดขนาดมาตรฐาน รวมทั้งการปรับปรุงเพิ่มเติมในส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ในแต่ละห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะดำเนินการในระยะที่ 2 ต่อไป

.






วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

โครงการ SMP ประชุมสัมมนาสรุปผลการดำเนินงานปี 2559 และเตรียมดำเนินงานต่อเนื่องในปี 2560

ภาพเพิ่มเติม...
วันที่ 16-19 กันยายน 2559 คณะกรรมการบริหารและกรรมการดำเนินงานในโครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะผู้บริหาร คณะกรรมการจาก 6 โรงเรียนเครือข่าย รวมทั้งครูผู้สอนในโครงการ SMP เครือข่ายทั้ง 6 โรงเรียน ร่วมด้วยคณะนักวิจัยติดตามโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ 2559 จัดประชุมสัมมนาปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนจากผลการดำเนินงานในโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ณ โรงแรมบุรีธารา อ่าวนาง จ.กระบี่
   การสัมมนาปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อเป็นการประเมินผลและสรุปผลจากการดำเนินงานโครงการ SMP ที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะนำข้อมูลและผลที่ได้จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งข้อเสนอแนะจากการสัมมนาครั้งนี้ ไปปรับแผนและวิธีดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560  ต่อไป          ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีเป้าหมายขยายจำนวนผู้เรียน โดยรับนักเรียนใหม่ในระดับชั้น ม.4 อีกโรงเรียนละ 1 ห้อง ห้องเรียนละ 40 คน รวมเป็นนักเรียนใหม่ในปีการศึกษา 2560 นี้ จำนวน 240 คน รวมกับนักเรียนเดิม ซึ่งจะขึ้นชั้น ม.5 ในปีการศึกษา 2559  นี้อีกจำนวน 240 คน ดังนั้น คาดว่า อีก 3 ปีข้างหน้า จะมีผู้เรียนในโครงการ SMP ใน 6 โรงเรียนเครือข่ายไม่น้อยกว่า 700 คน และคาดหวังว่า นักเรียนในห้องเรียน SMP อย่างน้อยร้อยละ 70 เข้าสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาด้านที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทั่วไป เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์อาหาร และสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2561 ทั้งมหาวิทยาลัยในพื้นที่และในส่วนกลาง รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาด้วย


    ประเด็นสำคัญที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และจะนำไปปรับปรุงการทำงาน ได้แก่  การปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับห้องเรียน SMP  การพัฒนานักเรียนที่เน้นการสร้างทักษะการทดลอง การสร้างเจตคติและความรักในการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับการพัฒนาครู มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะการทดลอง การสอนปฏิบัติการ ที่สำคัญคือ การจัดแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการจากเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกัน สอนเป็นทีม เรียนเป็นทีม โดยเน้นโครงงานเป็นฐาน โดยใช้ปัญหาจากพื้นที่ ที่สามารถผลิตชิ้นงานหรือนวัตกรรมออกมาได้จริง  สร้างความภูมิใจและความท้าทายให้แก่ผู้เรียน เกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่สนุกสนาน ตื่นเต้น
    สำหรับผลการวิจัยประเมินผลการดำเนินงานโครงการ (ฉบับร่าง) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัณย์ จันทรัตน์และคณะ ส่วนใหญ่พบว่า ผลการประเมินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความพึงพอใจอยู่ระดับมาก

   เอกสารประกอบการสัมมนาปฏิบัติการ

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

นักเรียนโครงการ SMP ร่วมกิจกรรมติวเข้มก่อนสอบภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559

ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2559 โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดกิจกรรมทบทวนเนื้อหาและเสริมความรู้ก่อนสอบปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559  ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร 20 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม กล่าวรายงานโดย อาจารย์ฐิติรัตน์ นิลวิจิตรผู้รับผิดชอบกิจกรรม  
    สำหรับการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมพัฒนาด้านวิชาการให้แก่นักเรียนเป็นครั้งที่ 2 โดยได้เชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในกระบวนการถ่ายทอดความรู้ และมีประสบการณ์ในการจัดอบรมติวเข้ม เพื่อเสริมความรู้ ทบทวนเนื้อหาให้แก่นักเรียนในโครงการ SMP จากทั้ง 6 โรงเรียนในเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ จำนวนกว่า 250 คน  ผลการดำเนินงานและมีการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน พบว่า ผู้เรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และเสนอความคิดเห็นว่าควรมีกิจกรรมอย่างนี้อีก อย่างต่อเนื่อง
..

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2559

ตัวอย่างการสอนแบบบูรณาการ : เสริมลดเวลาเรียนและเพิ่มเวลารู้จากการอบรมปฏิบัติการ 2-4 กันยายน 2559

แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการอบรมปฏิบัติ เรื่อง การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยการปฏิบัติ   วันที่ 2 -4 ก.ย.59  โดยคณะวิทยากรจากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย ซึ่งนำทีมโดย ผศ.พรรณี ในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล่าธนบุรี ได้นำเสนอตัวอย่างการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ หลายๆ กิจกรรม ทำให้ครูผู้สอน นักวิทยาศาสตร์ในโครงการ SMP ได้เปิดโลกทรรศน์ ปรับกรอบแนวคิด และลงมือปฏิบัติจริงในการสอนแบบบูรณาการผ่านกิจกรรมหรือเรื่องราวต่างๆ ทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้มีลักษณะกระตุ้นและท้าทายผู้เรียน เรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสาระวิชาที่เกี่ยวข้องไปพร้อมๆ กัน โดยอิงจากประสบการณในชีวิตจริง

  • กิจกรรมการทำขนมบัวลอย บูรณาการสาระการเรียนรู้ (2 ก.ย. 59)
 
 

 การออกแบบกิจกรรมการสอนโดยประยุกต์นำเอากิจกรรม "การทำขนมบัวลอย" มาใช้เป็นกิจกรรมหลัก  เน้นกระบวนการกลุ่ม เสนอเป็นตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการหลายสาระพร้อมๆ กัน โดยสามารถขั้นตอน ดังนี้


  1. กำหนดให้ผู้เรียน แบ่งกลุ่ม 5-7 คน เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน 
  2. ผู้สอนชี้แจงกิจกรรมที่นักเรียนจะต้องทำ โดยให้แต่ละกลุ่มคิดสูตร "การทำขนมบัวลอย" จำนวน 3 สูตร จากวัสดุต่างๆ ที่เตรียมไว้ให้ โดยให้แต่ละกลุ่มพิจารณาจากโดยอาจใช้ประสบการณ์เดิม หรือค้นหาความรู้เกี่ยวกับสูตรขนมบัวลอย จากนั้นให้เขียนสูตรลงในกระดาษ พร้อมขั้นตอนการปรุงหรือทำขนมบัวลอด
  3. จากนั้นให้ใช้เทคนิคการนำเสนอแบบ Visual Taking Note นำเสนอ ขั้นตอนหรือวิธีการปรุงขนมบัวลอย โดยใช้ภาพและตัวเลขในการสื่อความหมาย ข้อห้ามคือ ใช้ภาพและตัวเลขเท่านั้นในการนำเสนอวาดไว้ในกระดาษ Flip Chart
  4. ขั้นตอนต่อมาให้สมาชิกกลุ่มอื่นๆ ลองอ่านหรือนำเสนอ ขั้นตอนหรือวิธีการปรุงขนมบัวลอย โดยใช้ภาพและตัวเลขในการสื่อความหมาย 
  5. ให้นำขนมบัวลอยไปต้มตามขั้นตอนจริง (สร้างความสนุกสนานให้กับผู้เรียน) และลองชิม
  6. จากนั้นให้ผู้อบรมวิเคราะห์และสรุปว่า กิจกรรมการทำขนมบัวลอย มีสาระการเรียนรู้วิชาใด เรื่องอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง (การนำเสนอของกลุ่ม มีสาระวิชา เช่น เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา) เพื่อให้เห็นแนวทางว่า ผู้สอนสามารถกำหนดกิจกรรมให้แก่ผู้เรียนร่วมกันเรียนรู้ โดยบูรณาการสาระวิชาลงในกิจกรรมที่ผู้สอนได้ออกแบบร่วมกันไว้แล้วอย่างดี สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ที่ต้องการในแต่ละสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตร
  • กิจกรรมออกแบบเรือที่มีความคิดสร้างสรรค์
  1. กำหนดให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 5-7 คน
  2. แต่ละกลุ่มร่วมกันออกแบบเรือโดยใช้จินตนาการ, ประโยชน์ใช้สอย, หลักการทางวิชาการ โดยออกแบบร่างไว้ในกระดาษ (ร่างที่ 1)  โดยให้สามารถทำงานได้จริง
  3. นำแบบที่ได้ออกแบบไว้ในกระดาษ วาดในกระดาษ Flip Chart ของกลุ่ม เพื่อให้เป็นแบบร่างที่ 2 โดยคงกรอบความคิดร่างที่ 1 ไว้ให้มากที่สุด
    สรุปผลการอบรมปฏิบัติการ สิ่งที่ได้จากการอบรมครั้งนี้  ที่สำคัญคือ การเปลี่ยนกรอบความคิดของครูผู้สอนในโครงการ SMP ประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการจัดการเรียนรู้บูรณาการหลายๆ สาระการเรียนรู้ (หลายวิชา) ผ่านกิจกรรมและกระบวนการกลุ่ม สร้างทักษะการทำงานเป็นทีมของครูผู้สอน ที่ต้องร่วมกันออกแบบการสอน (จัดทำแผนการสอนแบบบูรณาการ) ร่วมกัน ซึ่งนับเป็นหน้าที่หลักและสำคัญที่สุดของครู ที่สำคัญคือการที่จะจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการได้นั้น ต้องคำนึงถึงหลักสูตร วิธีการบริหารหลักสูตร และนโยบายของผู้บริหารโรงเรียน ที่จะต้องเข้าใจกรอบความคิดในเรื่องของ "การสอนแบบบูรณาการ"  ซึ่งการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ได้ และจะเกิดประโยชน์กับนักเรียนอย่างแท้จริง






วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

คณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจรับห้องปฏิบัติการต้นแบบสำหรับพัฒนาครูโครงการ SMP

    คณะกรรมการตรวจรับพัสดุโครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ลงพื้นที่ตรวจรับห้องปฏิบัติการ ร่วมกับคณะกรรมการควบคุมงาน ซึ่งในโครงการ SMP ได้กำหนดให้มีกิจกรรมพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ต้นแบบ เพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับฝึกทักษะให้แก่ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ในโรงเรียนเครือข่ายทั้ง 6 โรงเรียน รวมทั้งครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยพัฒนาห้งปฏิบัติการฯ ทั้งนี้ เพื่อเป็ศูนย์กลางในการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของครูในโครงการ SMP โดยพัฒนาห้องปฏิบัติการไว้ทีอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ไว้ที่โรงเรียนเครือข่ายของทั้ง 6 โรงเรียนด้วย ขณะนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจรับงานเช่นเดียวกัน โดยมีนักวิทยาศาสตร์ประจำโรงเรียนเป็นผู้ดูแลและเป็นผู้ช่วย/ที่ปรึกษาในการทำโครงงานของนักเรียนในโครงการ SMP ในแต่ละโรงเรียน
    สำหรับการพัฒนานักเรียนในโครงการ SMP มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความสนใจวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  เน้นการพัฒนาเจตคติ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์  ทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทักษะการปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งปัจจัยที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมาย สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาครูผู้สอน ให้มีเทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ให้สนุกสนานน่าสนใจ มีทักษะในการจัดเตรียมอุปกรณ์การทดลอง การทดลอง การเขียนรายงาน เพื่อส่งเสริมให้นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงานเป็นฐานต่อไป