วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

โครงการ SMP ประชุมสัมมนาสรุปผลการดำเนินงานปี 2559 และเตรียมดำเนินงานต่อเนื่องในปี 2560

ภาพเพิ่มเติม...
วันที่ 16-19 กันยายน 2559 คณะกรรมการบริหารและกรรมการดำเนินงานในโครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะผู้บริหาร คณะกรรมการจาก 6 โรงเรียนเครือข่าย รวมทั้งครูผู้สอนในโครงการ SMP เครือข่ายทั้ง 6 โรงเรียน ร่วมด้วยคณะนักวิจัยติดตามโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ 2559 จัดประชุมสัมมนาปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนจากผลการดำเนินงานในโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ณ โรงแรมบุรีธารา อ่าวนาง จ.กระบี่
   การสัมมนาปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อเป็นการประเมินผลและสรุปผลจากการดำเนินงานโครงการ SMP ที่ได้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะนำข้อมูลและผลที่ได้จากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมทั้งข้อเสนอแนะจากการสัมมนาครั้งนี้ ไปปรับแผนและวิธีดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560  ต่อไป          ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีเป้าหมายขยายจำนวนผู้เรียน โดยรับนักเรียนใหม่ในระดับชั้น ม.4 อีกโรงเรียนละ 1 ห้อง ห้องเรียนละ 40 คน รวมเป็นนักเรียนใหม่ในปีการศึกษา 2560 นี้ จำนวน 240 คน รวมกับนักเรียนเดิม ซึ่งจะขึ้นชั้น ม.5 ในปีการศึกษา 2559  นี้อีกจำนวน 240 คน ดังนั้น คาดว่า อีก 3 ปีข้างหน้า จะมีผู้เรียนในโครงการ SMP ใน 6 โรงเรียนเครือข่ายไม่น้อยกว่า 700 คน และคาดหวังว่า นักเรียนในห้องเรียน SMP อย่างน้อยร้อยละ 70 เข้าสมัครเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ในสาขาวิชาด้านที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทั่วไป เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์อาหาร และสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2561 ทั้งมหาวิทยาลัยในพื้นที่และในส่วนกลาง รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาด้วย


    ประเด็นสำคัญที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และจะนำไปปรับปรุงการทำงาน ได้แก่  การปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับห้องเรียน SMP  การพัฒนานักเรียนที่เน้นการสร้างทักษะการทดลอง การสร้างเจตคติและความรักในการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับการพัฒนาครู มุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะการทดลอง การสอนปฏิบัติการ ที่สำคัญคือ การจัดแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการจากเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกัน สอนเป็นทีม เรียนเป็นทีม โดยเน้นโครงงานเป็นฐาน โดยใช้ปัญหาจากพื้นที่ ที่สามารถผลิตชิ้นงานหรือนวัตกรรมออกมาได้จริง  สร้างความภูมิใจและความท้าทายให้แก่ผู้เรียน เกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ที่สนุกสนาน ตื่นเต้น
    สำหรับผลการวิจัยประเมินผลการดำเนินงานโครงการ (ฉบับร่าง) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัณย์ จันทรัตน์และคณะ ส่วนใหญ่พบว่า ผลการประเมินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ มีความพึงพอใจอยู่ระดับมาก

   เอกสารประกอบการสัมมนาปฏิบัติการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น