ระหว่างวันที่ 25-27 พฤษภาคม 2559 โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับ 6 โรงเรียนเครือข่าย จัด กิจกรรมประชุมปฏิบัติการพัฒนาและปรับปรุงโปรแกรมสำหรับจัดการเรียนการสอนห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือห้องเรียน SMP มีตัวแทนหัวหน้าโครงการและผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จากโรงเรียนเครือข่ายร่วมประชุม จำนวน 30 คน ณ ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ ชั้น 2 โรงแรมบุรีศรีภู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยมี อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ประธานดำเนินงานโครงการ SMP เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมประชุมปฏิบัติการ อาจารย์ ดร.สายใจ แก้วอ่อน เลขานุการโครงการฯ ให้เกียรติกล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันพัฒนาและปรับปรุงโปรแกรมจัดการเรียนการสอนห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่วิชาสามัญใน 6 โรงเรียนเครือข่ายนำร่อง เน้นการกำหนดโครงสร้างรายสาระพื้นฐานและสาระวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพิ่มเติม รวมทั้งแนวทางการนำหลักสูตรไปปฏิบัติไปสู่ห้องเรียนความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งนี้ ได้รับเกียรติวิทยากร 3 ท่าน คือ อ.หะมะสูดิง มามะ อ.สุไฮลา แซสะ และ อ.นูรอาเฟียซ อายุ จากสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นหน่วยงานเครือข่ายในโครงการ SMP รวมทั้งคณาจารย์คณะกรรมการโครงการ SMP จากคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร อาจารย์ ดร.นิสาพร มูหะมัด อาจารย์นุชนารถ เต็มดี อาจารย์ ดร.สุนิตย์ โรจนสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมพัฒนาคำอธิบายรายวิชาและให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาโปรแกรมการเรียนการสอนสำหรับห้องเรียน SMP
นอกจากนั้น ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 เวลา 10.30 น. ยังได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ให้เกียรติเดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจ และให้โอวาทแก่ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้อีกด้วย โดยอธิการบดีฯ เน้นให้ความสำคัญของการพัฒนาการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการพัฒนาครูและคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาฯ ซึ่งมีโรงเรียนที่จัดการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาเป็นจำนวนมากในสัดส่วนมากที่สุดในพื้นที่ ดังนั้นหากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับเครือข่ายในการพัฒนาคุณภาพครูอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ก็จะสามารถยกระดับคุณภาพของครูและการศึกษาในพื้นที่ได้ ก็จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้กับเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ให้สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น