วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ประชุมปฏิบัติการกรรมการเครือข่าย SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา


ภาพเพิ่มเติม...
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 เวลา 10.00-16.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะกรรมการดำเนินงานในโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ฯ หรือโครงการ SMP จัดประชุมปฏิบัติการเพื่อร่วมกันกำหนดแผนงาน กิจกรรมในการดำเนินงานร่วมกัน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560  ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2559 โดยการบันทึกความร่วมมือ (MoU) ดำเนินงานร่วากันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เครือข่ายทั้ง 6 โรงเรียน และสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา โดยมีผู้แทนจากโครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้บริหาร ผู้สอนในโครงการ SMP จาก 6 โรงเรียน และผู้แทนจากสำนักงานการศึกษาเอกชนประจำอำเภอและจังหวัดยะลา กว่า 60 คน ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี ประธานที่ปรึกษาโครงการ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ เปิดการประชุม และให้นโยบายในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดยะลา ทั้งนี้ ได้กล่าวชื่นชมผลการดำเนินงานโครงการ SMP ของมหาวิทยาลัยและขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ยินดีเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนโครงการนี้ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเอง มีหลักสูตรทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้นักเรียนเลือกศึกษาต่อ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีความพร้อมทั้งคณาจารย์ ห้องปฏิบัติการ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีคุณภาพมากเพียงพอ
 นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนี้ ยังมีการนำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการ SMP ในปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมาโดย ดร.สายใจ แก้วอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานคณบดีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร และมีการนำเสนอผลการวิจัยประเมินโครงการประจำปี 2559 ที่ผ่านมา โดย ผศ.ดร.รุ้งลาวัณย์ จันทรัตนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ผลการดำเนินงานใน
โครงการ SMP ในปีงบประมาณที่ผ่านมา มีผลการวิจัยอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลการประเมินจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปัญหาอุปสรรคสำคัญที่พบ ได้แก่ ความชัดเจนในระยะแรกของการการดำเนินงานโครงการ การปรับปรุงสิ่งก่อสร้างห้องปฏิบัติการของแต่ละโรงเรียน ซึ่งมีขนาดและมาตรฐานที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความล่าช้าในการออกแบบ การกำหนดรายการประกอบแบบ (BoQ) ที่สอดคล้องกับราคากลางหรือราคามาตรฐาน การขาดช่างฝีมือแรงงานในพื้นที่  นอกจากนั้น เรื่องเวลาที่จำกัดสำหรับนักเรียนในการเข้าร่วมกิจกรรม มีวันหยุดเรียนบ่อย เป็นต้น
     สำหรับข้อเสนอแนะจากที่ประชุม ทางผู้แทนสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา ได้ให้ความเห็นว่า โครงการ SMP เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในพื้นที่ เพราะเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาครูผู้สอน และการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่จะส่งเสริมให้นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หันมาสนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์หรือที่เกี่ยวข้อง  ส่วนทางผู้บริหารโรงเรียน ให้ข้อเสนอแนะว่า ทางสำนักงานการศึกษาเอกชนมีโครงการพัฒนาโรงเรียนในสังกัดอยู่ ควรพิจารณาว่าสามารถทำร่วมกันกับโครงการ SMP ได้หรือไม่ จะได้เป็นการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะใน 6 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ SMP


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น