เกี่ยวกับโครงการ

โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 
(Science Mathematics Program, Yala Rajabhat University: SMP-YRU) ในโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่จังหวัดยะลา 
สถานที่ ณ 
ศูนย์วิทยาศาสตร์ (
อาคาร 9 ชั้น 1)
--------------------------------------------------------------------------------

ปีที่ 7: ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
(งบประมาณตามแผนบูรณาการยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 8,138,200.00 บาท) 
    การดำเนินงานโครงการ SMP-YRU ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้รับงบประมาณในโครงการเสริมสร้างคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแนวยุทธศาสตร์การศึกษาและการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญเครือข่ายของการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดยะลาเพิ่มอีกจำนวน 3 โรงเรียน โดยโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการดำเนินงานโครงการกำหนด ได้แก่ 1) โรงเรียนผดุงศิลวิทยา อ.บันนังสตา  2) โรงเรียนเจริญศาสน์วิทยา (ปอเนาะกาสังบน) อ.บันนังสตา และ 3) โรงเรียนพัฒนาวิทยากร (ปอเนาะป่าพร้าว)  จึงทำให้ให้โรงเรียนเครือข่าย SMP-YRU  รวมทั้งหมดจากรุ่นที่ 1-4 รวมทั้งหมดจำนวน 15 โรงเรียน (http://smp-yru.blogspot.com/p/blog-page_82.html)  ซึ่งในการดำเนินงานตามงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้รับเป็นงบในหมวดงบลงทุน มีกิจกรรมหลัก 1 กิจกรรม ได้แก่ การพัฒและปรับรั ปรุงห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP) ในโรงเรียนเป้าหมายพื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงในจังหวัดยะลา ดำเนินการปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (Lab) พร้อมจัดหาครุภัณฑ์อุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ วัสดุสารเคมี สื่อโสตทัศนูปกรณ์ จำนวน 1 ห้อง สำหรับการจัดการเรียนการสอนห้องเรียน SMP-YRU ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 เป็นหลัก รวมทั้งสนับสนุนการเรียนการสอนในระดับชั้นอื่น ๆ ด้วย 



    กำลังอัปโหลด: อัปโหลดแล้ว 1789337 จาก 1789337 ไบต์    


   ทั้งนี้ ถึงแม้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ไม่ได้รับสนับสนุนงบดำเนินงานเพื่อการพัฒนานักเรียน และครูผู้สอน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาและโรงเรียนเครือข่ายทั้ง 3 โรงเรียน ได้จัดกิจกรรมร่วมกันโดยใช้งบประมาณส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยและของโรงเรียน เช่น กิจกรรมพัฒนาทักษะครูผู้สอนในการใช้อุปกรณ์การทดลองในห้องปฏิบัติการ 

  

 

    สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โรงเรียนเครือข่าย SMP-YRU ทั้ง 15 โรงเรียน ศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภ.4 สน. และสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา (สช.ยะลา) จะจัดกิจกรรมทบทวนและจัดทำบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MoU) ในวันที่ 6 กันยายน 2565 นี้ เพื่อร่วมมือกันพัฒนาห้องเรียน SMP-YRU อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีระยะดำเนินการ 5 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2570) เพื่อให้เป็นต้นแบบของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่จังหวัดยะลาอย่างยั่งยืนต่อไป     

ปีที่ 6: ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
(งบประมาณตามแผนบูรณาการยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2,400,000.00 บาท)
      การดำเนินงานโครงการ SMP - YRU ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้รับงบประมาณตามแผนงานบูรณาการการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นงบลงทุนและสิ่งก่อสร้างใน 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 


      กิจกรรมที่ 1  การปรับปรุงห้องปฏิบัติการในโรงเรียนเดิมรุ่นแรก 
             ตามที่ในปีงบประมาณ 2559 มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณเงินอุดหนุน เฉพาะหมวดสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ สนับสนุนการพัฒนาห้องเรียนพิเศษ SMP จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่  (1) โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง (2) โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา ตำบลลำใหม่ อำเภอเมือง  (3) โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ ตำบลบะแต อำเภอยะหา (4) โรงเรียนดำรงวิทยา ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา (5) โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ ตำบลบาลอ อำเภอรามัน และ (6) โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต ซึ่งใช้ประโยชน์มานานกว่า 5 ปี จึงเน้นการปรับปรุงให้ห้องปฏิบัติการให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ ใน 6 โรงเรียนเดิม ในรุ่นแรกที่เข้าร่วมโครงการเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ซึ่งครุภัณฑ์และอุปกรณ์การเรียนปฏิบัติการเสื่อมสภาพ ชำรุด ต้องซ่อมแซม ปรับปรุง และจัดหาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้ห้องปฏบัติการวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนชั้น ม.4 - ม.6 รวมทั้งนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียน สร้างโอกาสการศึกษาต่อปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีต่อไปในอนาคต เพื่อเป็นกำลังสำคัญของ Thailand 4.0


    กิจกรรมที่ 2 ปรับปรุงและพัฒนาห้องเรียน STEAM  (Science, Technology, Engineer, Art, Mathematics) 

          เป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมายพัฒนา ห้องปฏิบัติการประดิษฐ์กรรม (Fabrication Laboratory) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า FabLab  ดำเนินการโดย คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร (http://science.yru.ac.th) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการศาสตร์ในด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะ และคณิตศาสตร์ ในโรงเรียน SMP-YRU และในสังกัด สพม. เพื่อ ปลูกฝัง เสริมสร้างแนวคิด เจตคติที่ดีต่อการศึกษาด้าน STEAM และการประกอบอาชีพในอนาคตด้านที่เกี่ยวข้อง เป็นการป้องกันและสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นักเรียนในพื้นที่ จชต. ด้วยการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา เน้นการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานในโรงเรียนพื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงดังกล่าว ทั้งโรงเรียนเดิมในโครงการ SMP-YRU (8 โรงเรียน) และโรงเรียนเครือข่ายพัฒนาของมหาวิทยาลัย (4 โรงเรียน) รวม 12 โรงเรียน  ได้แก่ 

1) โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ (สพม.)
2) โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา  (สช.)
3) โรงเรียนเบตงวีระราษฎร์ประสาน (สพม.) 
4) โรงเรียนสตรียะลา (สพม.)
5) โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ (SMP-YRU)
6) โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิยะลา (SMP-YRU)
7) โรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา (SMP-YRU) 
8) โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ (SMP-YRU)
9) โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ (SMP-YRU)
10) โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา (SMP-YRU)
11) โรงเรียนดำรงวิทยา (SMP-YRU)
12) โรงเรียนคัมภีร์วิทยา (SMP-YRU)


    อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนาห้อง SMP-YRU มีความอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง มหาวิทยาลันยราชภัฏยะลา (http://www.yru.ac.th) ในฐานะมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่ จึงดำเนินการสนับสนุนการพัฒนานักเรียน ครูผุ้สอน ผู้บริหาร ผู้ปกครองอย่างต่อเนื่องด้วยภารกิจงานด้านบริการวิชาการและการวิจัย แม้ว่าจะมีข้อจำกัด ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนในหมวดดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564   มหาวิทยาลัยมีกิจกรรมสนับสนุนโครงการ SMP-YRU ดังนี้

1. การส่งเสริมการใช้ระบบอีเลิร์นนิ่ง (http://e-smp.yru.ac.th)

2. การจัดทำโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ในโครงการ SMP-YRU 
         เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโครงการ SMP-YRU โดยการยกระดับคุณภาพของครู มหาวิทยาลัยฯ จึงจัดทำโครงการวิจัย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อบูรณาการในพื้นที่ ได้แก่
    2.1 แผนงานวิจัย การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ผ่านกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ  Professional Learning Community (PLC) ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อย ได้แก่
        1) โครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา ผ่านกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ Professional Learning Community (PLC) ในรายวิชาเคมี สาหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (อ.ปิยศิริ สินไชย สุนทรนนท์ ผู้วิจัย) 
        2) โครงการวิจัย เรื่อง การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ Professional Learning Community (PLC) ในรายวิชาเคมี สาหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (อ.ดร.นิสาพร มูหะมัด ผู้วิจัย)
        3) โครงการวิจัย เรื่อง การจัดการเรียนรู้โดยใช้บทเรียนอีเลิร์นนิ่งผ่านกระบวนการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ Professional Learning Community (PLC) ในรายวิชาเคมี สาหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (อ.ดร.ศิริชัย นามบุรี ผู้วิจัย)
   2.2 โครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาบทเรียนอีเลิร์นนิ่งแบบผสมผสาน รายวิชาปฏิบัติการเคมี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (ปีการศึกษา 2563-2546)  


ปีที่ 5: ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
(งบประมาณตามแผนบูรณาการยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 26,709,000.00 บาท)
      การดำเนินงานโครงการ SMP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีการขยายโรงเรียนกลุ่มเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่  (1) โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ ตำบลสะเตง อำเภอเมือง (2) โรงเรียนดารุลฮูดาห์วิทยา ตำบลวังพญา อำเภอรามัน และ (3) โรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา ตำบลบาโงยซิแน อำเภอยะหา ซึ่งทั้งสามโรงเรียนจะได้รับการพัฒนาและเตรียมความพร้อมนักเรียน ผู้บริหาร ครู และผู้ปกครองให้มีความรู้ความเข้าใจในโครงการ และสร้างความร่วมมือให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MoU) กับเครือข่ายทำงานแบบบูรณาการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (บูรณาการภายในระดับคณะ สำนัก และหลักสูตร) สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา และสำนักงานการศึกษาเอกชนระดับอำเภอ ผู้บริหารโรงเรียน และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะสักขีพยาน เป็นหน่วยติดตามประเมินผลการใช้งบประมาณ
     การพัฒนาห้องเรียน SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีนักเรียนห้องเรียน SMP ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 - จนถึงปัจจุบัน จำนวน 12 โรงเรียน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6 ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการพัฒนาห้องวิทยาศาสตร์ ในปีการศึกษา 2563 จำนวน 1,132 คน นอกจากนั้น ผู้บริหารและครูวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอีกไม่น้อยกว่า 120 คน ยังได้รับประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของโรงเรียน อีกทั้งผู้ปกครองและชุมชนยังไม่รับประโยชน์ทางอ้อม มีความภาคภูมิใจ รับรู้และเข้าใจเป้าหมานในโครงการ SMP ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาในพื้นที่อีกไม่น้อยกว่า 2,000 คน ซึ่งในปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมามีนักเรียน ม.6 SMP รุ่นแรก สำเร็จการศึกษา 238 คน และในปีการศึกษา 2562 นักเรียน ม.6 SMP รุ่นที่สอง สำเร็จกรศึกษา 205 คน ในจำนวนนี้ มีผู้ศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์และที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 40 ได้รับโอกาสศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ ในมหาวิทยาลัยใหญ่ที่มีชื่อเสียงจำนวนมากและมีแนวโน้มในทางที่ดีในอนาคตต่อไป

 

   
ปีที่ 4: ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
(งบประมาณตามแผนบูรณาการยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 14,963,900 บาท)
    แนวทางในการดำเนินงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 คณะกรรมการดำเนินงานฯ มีมติเห็นร่วมกัน ว่าควรจะพัฒนาและประเมินผลการดำเนินงานโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้ง 9 โรงเรียน ซึ่งจะมีนักเรียนสำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.6 รุ่นแรก จำนวนประมาณ 240 คน ที่จะต้องเตรียมตัวสอบศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี และมีนักเรียนในโครงการระดับชั้น ม.4-6 จำนวน ประมาณ 750 คน ที่อยู่ในกระบวนการพัฒนาทั้งนี้ อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลและพัฒนาโครงการ เพื่อเสนอของงบประมาณในแผนบูรณาการ "การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี พ.ศ. 2562"  ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาให้เป็นต้นแบบการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ จชต. อย่างยั่งยืน และนำไปขยาผลต่อไป
    ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 โครงการฯ ได้รับงบประมาณสนับนสนุนการพัฒนานักเรียน ผู้บริหาร ครูผู้สอน ผู้ปกครองอย่างต่อเนื่อง มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ ความรู้ ความเข้าใจ เจตคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง ต่อนโยบายของรัฐในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาใน จชต. โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ โดยในปีการศึกษา 2562 มีนักเรียน ม.6 รุ่นแรกจำนวน 238 คน ในจำนวนมีนักเรียนออกกลางคัน จำนวน 9 คน และสำเร็จการศึกษา จำนวน 229 คน  โดยผลจากการติดตามพบว่า 
  • ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณิตศาสตร์ จำนวน 80 คน  คิดเป็นร้อยละ 34.93
  • ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านสังคมศาสตร์และการศึกษา จำนวน 14 คน  คิดเป็นร้อยละ 6.11
  • ศึกษาต่อศาสนา จำนวน 63 คน คิดเป็นร้อยละ 27.52 (จบการศึกษาปี 2562 และคาดว่าจะศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในปีการศึกษา 2563)
  • ประกอบอาชีพ/ทำงาน จำนวน 6 คิดเป็นร้อยละ 2.62
  • อื่น ๆ จำนวน 66 คน คิดเป็นร้อยละ 28.82

      จากข้อมูลการศึกษาต่อข้างต้น มีนักเรียนเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณิตศาสตร์ จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 7.69 จากจำนวนผู้ศึกษาต่อปริญญาตรีในด้านนี้   และด้านสังคมศาสตร์และการศึกษา จำนวน 1 คน คิดเป็นร้อยละ 0.33   จากจำนวนผู้ศึกษาต่อด้านนี้




ปีที่ 3: ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
(งบประมาณตามแผนบูรณาการยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 33,990,900.00 บาท)
     การดำเนินงานโครงการ SMP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 มีการขยายโรงเรียนกลุ่มเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 3 โรงเรียน ได้แก่  (1) โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ ตำบลนังสาเรง อำเภอเมือง (2) โรงเรียนคัมภีร์วิทยา ตำบลบันนังสตา อำเภอบันนังสตา และ (3) โรงเรียนประทีปวิทยา ตำบลลิดล อำเภอเมือง ซึ่งทั้งสามโรงเรียนจะได้รับการพัฒนาและเตรียมความพร้อมนักเรียน ผู้บริหาร ครู และผู้ปกครองให้มีความรู้ความเข้าใจในโครงการ และสร้างความร่วมมือให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MoU) กับเครือข่ายทำงานแบบบูรณาการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (บูรณาการภายในระดับคณะ สำนัก และหลักสูตร) สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา และสำนักงานการศึกษาเอกชนระดับอำเภอ ผู้บริหารโรงเรียน และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะสักขีพยาน เป็นหน่วยติดตามประเมินผลการใช้งบประมาณ
    สำหรับเป้าหมายในการดำเนินงานโครงการ SMP ในปี 2561 โครงการมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ดำเนินงานในลักษณะใช้โครงการเป็นฐาน (Project-based) ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งผลผลิต (Output) ทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร  สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาชีววิทยา สาขาคอมพิวเตอร์  หน่วยงานพัฒนาด้านไอซีทีในโรงเรียน ได้แก่ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ หน่วยงานพัฒนาทักษะด้านภาษา ได้แก่ ศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย เข้ามาร่วมดำเนินงานในกิจกรรมที่สำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสุดท้าย คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โครงการ SMP มีคะแนนเฉลี่ย ONET  วิชาหลักอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 80 จากจำนวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และมีนักเรียนสำเร็จการศึกษาแล้วศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ หรือที่เกี่ยวข้องด้านวิทยาศาสตร์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80


ปีที่ 2: ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560
(งบประมาณตามแผนบูรณาการยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 8,532,200 บาท)

  จากการดำเนินงานโครงการ SMP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นการเริ่มต้นพัฒนาโครงการ SMP ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญ จำนวน 6 โรงเรียน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รับผิดชอบในจังหวัดยะลา ตามนโยบายการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) โดยการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะการพัฒนานักเรียนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ทั้งนี้โดย ผ่านการเสนอโครงการของบประมาณตาม "แผนบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งมีฝ่ายเลขานุการของแผนบูรณาการนี้ คือ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต. )

 เป้าหมายของการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2559 เน้นการพัฒนาและปรับปรุงห้องปฏิบัติการ จัดหาครุภัณฑ์ห้องปฏิบัติการ สื่อโสตทัศนูปกรณ์ การปรับปรุงหลักสูตรร่วมกับเครือข่าย การพัฒนาทักษะการสอนปฏิบัติการให้แก่ครูในโครงการ การพัฒนาความพร้อมของนักเรียนระดับชั้น ม. 4 การติดตามผลการดำเนินงานในพื้นที่ รวมทั้งการประชุมปฏิบัติการร่วมกันของมหาวิทยาลัย สำนักงานการศึกษาเอกชน โรงเรียน นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อสรุปผลการดำเนินงานในปี พ.ศ. 2559 ร่วมกัน ทั้งนี้โดยผลจากการวิจัยประเมินผลโครงการในปี 59 มาปรับปรุงกระบวนการทำงานของโครงการ
    สำหรับการดำเนินงานโครงการ SMP โดยคณะกรรมการดำเนินงานฯ มีความเห็นว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 จะยังไม่มีการขยายพื้นทีจำนวนโรงเรียนเพิ่มเติม แต่จะเน้นการพัฒนาระบบการจัดการเรียนการสอน การจัดการห้องปฏิบัติการ การพัฒนาครูผู้สอน การประเมินความสำเร็จของโครงการอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กระบวนการวิจัยต่อเนื่องจากการวิจัยติดตามประเมินผลโครงการจากปี 2559 โดยใช้ CIPP Model ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเพิ่มในปี 2561 อีกจำนวน 3 โรงเรียน เพื่อนำรูปแบบที่พัฒนาขึ้นไปขยายผลในโรงเรียนรุ่นใหม่ในโครงการ SMP และมีการติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ ร่วมกับสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา รวมทั้งขยายผลสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานในโครงการ SMP และนโยบายภาครัฐสู่ประชาชน ได้แก่ ผู้ปกครอง ชุมชน หมู่บ้าน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการของภาครัฐแบบมีส่วนร่วม ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาในพื้นที่อย่างยั่งยืนต่อไป



ปีแรก: ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559
(งบประมาณตามแผนบูรณาการยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 30,000,000 บาท)

หลักการและเหตุผล

คณะกรรมการดำเนินงานโครงการ SMP-YRU
ลงพื้นที่โรงเรียนเครือข่ายในโครงการ
นโยบายการศึกษาของไทย เน้นให้ความสำคัญและส่งเสริมการจัดการเรียนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ทั้งนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ เพราะบัณฑิตในสาขาทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่เป็นผลผลิตในขั้นสุดท้ายของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ที่มีบทบาทเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ สร้างโอกาสในการแข่งขันกับนานาชาติในอนาคตได้ เพราะเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการวิจัย คิดค้น ประดิษฐ์ และพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งสาขาต่างๆ ที่สำคัญและขาดแคลนอยู่ขณะนี้ ได้แก่ แพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักวิทยาศาสตร์ ด้านอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์ นักเทคโนโลยีและนักสารสนเทศ เป็นต้น 
แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังคงขาดแคลนบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ปัญหาสำคัญคือ มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาให้ความสนใจเลือกเรียนในโปรแกรมหรือสาขาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จำนวนน้อย เพียงประมาณร้อยละ 30 ของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย, 2555) ที่เหลืออีกร้อยละประมาณ 70 สนใจเรียนด้านสังคมศาสตร์ การศึกษาและมนุษยศาสตร์ อีกทั้ง นักเรียนที่สนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ก็ยังขาดความพร้อมและขาดความถนัดเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศในระดับสูงได้ ทั้งนี้ รวมถึงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ด้วย 
วันที่ 13 ก.ค. 58 คณะกรรมการโครงการ SMP สามสถาบัน มหาวิทยาลัย
ราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ
มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมปรึกษาหารือกำหนดแนวทาง
การดำเนินงานโครงการ SMP ในพื้นที่รับผิดชอบแต่สถาบันร่วมกัน
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน คือ นักเรียนในพื้นที่เลือกเรียนโปรแกรมด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์น้อยมาก โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในแต่ละจังหวัด ซึ่งสามารถประเมินได้จากสถิติการรับนักศึกษาเข้าเรียนในระดับปริญญาตรีในสาขาต่างๆ ของคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่ต้องเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่แต่ละปีการศึกษามากกว่า 1 รอบ ทั้งนี้ เพื่อรับสมัครนักศึกษาให้ครบตามแผนการรับนักศึกษาใหม่ในแต่ละสาขาวิชา ซึ่งมีมากกว่า 14 สาขาวิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา จุลชีววิทยา วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการเกษตร วิทยาศาสตร์การอาหาร สุขศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาการคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ศึกษา (ค.บ.) เป็นต้น 
สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในจังหวัดยะลา ถือเป็นพื้นที่ให้บริการด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมสำหรับการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งในด้านงบประมาณ บุคลากร (ครูสำเร็จการศึกษาตรงตามสาขา) ห้องปฏิบัติ ครุภัณฑ์และวัสดุ ขาดการแนะแนวและสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนสายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่สำคัญคือ โรงเรียนเองยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการห้องเรียนไปสู่ความเป็นเลิศในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ การพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงนับเป็นบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นโดยตรง ที่จะต้องส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่ โดยการให้บริการวิชาการแก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในจังหวัดยะลา  
ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 สนใจเข้าเรียนต่อในมัธยมศึกษาตอนปลาย คือ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในโปรแกรมด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จึงต้องจัดให้มีโครงการ “การจัดตั้งห้องเรียน Science and Mathematics Program: SMP ในโรงเรียนพื้นที่เป้าหมายจังหวัดยะลา” โดยเลือกพัฒนากลุ่มเป้าหมายที่เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในสังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา จำนวน 6 โรงเรียน ได้แก่ (1) โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา ต.ลำใหม่ อ.เมือง (2) โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ ต.บาลอ อ.รามัน (3) โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ต.สะเตง อ.เมือง (4) โรงเรียนสมบูรณ์ศาสตร์ ต.ปะแต อ.ยะหา (5) โรงเรียนสุทธิศาสน์  ต.บ้านแหร อ.ธารโต และ (6) โรงเรียนดำรงวิทยา ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา ซึ่งมีความพร้อมด้านนโยบายการบริหารและแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ SMP ของมหาวิทยาลัยฯ โดยมีเป้าหมายตั้งห้อง SMP โรงเรียนละ 1 ห้อง รับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ห้องละ 40 คนเริ่มดำเนินการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ด้วยการสนับสนุน ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานโครงการดังกล่าว โดยกองอำนวยการร่วมรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) และคาดว่านักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจากโครงการห้องเรียน SMP จะมีโอกาสในการแข่งขันสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หรือในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในท้องถิ่นและในส่วนกลาง ในสาขาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนทั้งหมด และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดยะลาจะให้ความสนใจเรียนและศึกษาต่อในสาขาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และในสาขาที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น