วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2561

แนวทางการดำเนินงานโครงการ SMP และกรอบงบประมาณประจำปี พ.ศ.2563

 การดำเนินงานโครงการห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science & Mathematics Program: SMP) ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญ โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (รับผิดชอบจังหวัดยะลา) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (รับผิดชอบจังหวัดปัตตานี) และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (รับผิดชอบจังหวัดนราธิวาส) เป็นที่ปรึกษาและพี่เลี้ยง ร่วมกันพัฒนาแบบบูรณาการทั้งกับโรงเรียนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา ผู้นำชุมชน และผู้ปกครองนักเรียน

  โครงการ SMP ได้รับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินตามแนวทางการจัดสรรงบประมาณของ "แผนบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้"  มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้แก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญเครือข่าย โดยพัฒนาห้องปฏิบัติการ จัดหาครุภัณฑ์และวัสดุ พัฒนาผู้บริหาร ครู นักเรียน ในระดับ ม.4-6  โดยเริ่มรับนักเรียน ม.4 รุ่นแรกมาตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2559 โดยมีโรงเรียนร่วมโครงการรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2559 ทั้งหมด  6  โรงเรียน และรุ่นที่ 2 ในปี พ.ศ. 2561 อีกจำนวน 3 โรงเรียน รวมทั้งหมด 9 โรงเรียน 

 
  

      ในปีการศึกษา 2562 หรืองบประมาณ พ.ศ. 2563 นี้ จะมีนักเรียน ม.6 รุ่นแรกสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6  รวมทั้งสิ้นจำนวน 240 คน และจะสอบเรียนต่อในระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จชต. และนอกพื้นที่ โดยตามเป้าหมายโครงการกำหนดตัวชี้วัดไม่น้อยกว่าร้อยละ 80  ศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์หรือที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลสำเร็จของโครงการ จะได้เสนอในโอกาสต่อไป
       สำหรับการดำเนินงานโครงการ SMP ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 นี้ มีการประชุมการพิจารณากรอบการของบประมาณเมื่อวันที่ 29-30 พ.ย. และ วันที่ 3-4 ธ.ค. 61 ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร โดยมหาวิทยาลัยเครือข่ายในพื้นที่ จชต. นำได้เสนอของบประมาณสนับสนุนโครงการ SMP ให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้เสนอเพิ่มโรงเรียนใหม่เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 3 โรงเรียน โดยได้เสนอกรอบโครงการและกิจกรรมสำคัญแก่คณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณางบประมาณ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบุตรหลานของพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นการสร้างโอกาส ลดความเหลี่อมล้ำทางการศึกษา เป็นการพัฒนากำลังทรัพยากรมนุษย์และเสริมสร้างความมั่นคงด้วยการศึกษาเป็นรากฐานในการพัฒนาโครงการสำคัญ ๆ ในพื้นที่ จชต. ต่อไป ความคืบหน้าจะได้มีโอกาสนำมาเล่าต่อไป
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น