แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ กิจกรรมประชุม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ กิจกรรมประชุม แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ประชุมเชิงปฏิบัติการวางแผนการดำเนินงานโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ 2563


        วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เวลา 13.30 - 15.00 น. ณ ห้องลาดา ชั้น ๒ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ (อาคาร 20) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โครงการห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP) ในโรงเรียนเป้าหมายพื้นที่จังหวัดยะลา ประชุมเชิงปฏิบัติการวางแผนการดำเนินงานโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1/2563 โดยมี อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.นิสาพร มูหะมัด อาจารย์ประจำหลักสูตรเคมี อาจารย์ปฏิพัทธ์ ชุมเกศ อาจารย์นุชนาถ เต็มดี อาจารย์ประจำหลักสูตรคณิตศาสตร์ และเจ้าหน้าที่โครงการ SMP เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย

        ในการประชุมคณะกรรมการโครงการ SMP ร่วมวางแผนแนวทางการดำเนินงาน ในปีงบประมาณ 2563 มีการเพิ่มจำนวนโรงเรียนในเครือข่ายโครงการ SMP จำนวน 3 โรงเรียน จากเดิมจำนวน 9 โรงเรียน ได้แก่ (1)โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา (2)โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ (3)โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ (4)โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ (4)โรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา (6)โรงเรียนดำรงวิทยา (7)โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ (8)โรงเรียนคัมภีร์วิทยา (9)โรงเรียนประทีปวิทยา  รวมทั้งสิ้นในปีงบประมาณ 2563 มีโรงเรียในเครือข่ายโครงการ SMP จำนวน 12 โรงเรียน ซึ่ง 3 โรงเรียนใหม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โครงการห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสนใจเรียนต่อระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์และที่เกี่ยวข้องอีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อส่งเสริมความมั่นคงเสริมสร้างโอกาสให้กับนักเรียนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีคุณภาพทางการศึกษาที่ดียิ่งขึ้น

วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

การประชุมปฏิบัติการติดตามผลการดำเนินงานโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 5/2561


        วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เวลา 10.30 - 12.00 น.โครงการห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP) จัดประชุมปฏิบัติการติดตามผลการดำเนินงานโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 5/2561 ณ ห้องประชุมหลู่หุ้ย ชั้น 6 อาคารบรรณราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมี อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทน รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในการจัดประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดแผนการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้เสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2561 และเพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการให้เป็นไปตามเป้าของการเบิกจ่ายงบประมาณ รายงานข้อมูลและสถิติ จำนวนนักเรียน ปีการศึกษา 2561 รวมทั้งสิ้น 783 คน ข้อมูลประเมินมาตรฐานความรู้ นักเรียน SMP ปีการศึกษา พ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2560 พบว่า มีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดีขึ้น รายงานผลดำเดินการกิจกรรม ของโครงการ SMP การกำหนดตัวชี้วัด และติดตามผลงานของนักวิทยาศาสตร์ เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ นักวิชาการศึกษา และนักวิทยาศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

วันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2561

ประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนหลักสูตรโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ 2561

     

         วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2561 เวลา 14.00 น โครงการห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนหลักสูตรโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่วันที่ 21- 23 มกราคม 2561 ณ โรงแรมหาดแก้วรีสอร์ท ตำบลเชียงเกาะ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยมี ดร.ศิริชัย นามบุรี รักษาราชการแทน รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร  ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนหลักสูตรโครงการ SMP กล่าวรายงาน โดย อาจารย์ปฏิพัทธ์ ชุมเกศ อาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

วันพุธที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางในการดำเนินงานโครงการ SMP


        วันที่ 20 ธันวาคม 2560 เวลา 13.00 – 16.30 น. โครงการห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแนวทางในการดำเนินงานโครงการ SMP ร่วมกับโรงเรียนเครือข่ายจำนวน 9 โรงเรียน ประจำปีงบประมาณ 2561 ณ ห้องประชุมหลู่หุ้ย ชั้น 6 อาคารบรรณราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา อาจารย์นุชนาถ เต็มดี อาจารย์สาขาคณิตศาสตร์ แจ้งให้ทราบ ถึงทิศทางการดำเนินงานโครงการ SMP นอกจากนี้ยังได้มีการแนะนำผู้บริหาร คณะกรรมการ และเจ้าหน้าที่โครงการ SMP แจ้งถึงกำหนดการกิจกรรมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 และได้มีการแจ้งถึงการปรับกิจกรรมเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนและโรงเรียนในโครงการตามข้อเสนอแนะจากสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ยังได้พูดถึงเรื่องกิจกรรมที่ผ่านของโครงการ SMP และการเสนอมาตรการในการวัดระดับนักเรียนในโครงการ SMP โดยให้มีผลคะแนนอิงเกรด 20% จาก 80% ของเกรดในรายวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ ซึ่งในที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้มาตรการ 20:80 ของคะแนน เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นความสำคัญของโครงการ SMP  และได้มีการแบ่งกลุ่มในภาควิชา ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์ เพื่อหารือถึงเรื่องกิจกรรมการบริการ วิชาการและการนิเทศ รวมถึงยังได้พูดคุยแลกเปลี่ยน แนวทางการแก้ไขปัญหาของรูปแบบการเรียนการสอนที่ผ่านมา และยังได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมที่จะจัดขึ้นร่วมกันระหว่างโครงการ SMP กับโรงเรียนในเครือข่าย

วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดสัมมนาปฏิบัติการ

ระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคม 2560 โครงการห้องเรียน SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดกิจกรรมประชุมสัมมนาปฏิบัติการติดตามและประเมินผลโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หรือ Science Mathematics Program: SMP ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 ณ โรงแรมการ์เด็นวิว อ.เบตง จ.ยะลา โดยมีคณะผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครองจากโรงเรียนเครือข่าย 6 โรงเรียน รวมทั้งผู้บริหารและคณาจารย์กรรมการโครงการและเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ประจำโครงการ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) จังหวัดยะลา รวมจำนวน 60 คน ทั้งนี้ เพื่อประเมินความสำเร็จของโครงการ และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steakholder) กับโครงการ ทั้งนี้ โดยมีอาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีผู้กำกับโครงการให้เกียรติเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นประธานเปิดกิจกรรมและอยู่ร่วมกิจกรรมตลอดทั้ง 2 วัน
     กิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการในช่วง 2 วันนี้ ได้แก่ การนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียน การนำเสนอผลงานจากโครงการ SMP โดยนักเรียน การจัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม (Focus Group) ของผู้เข้าร่วมสัมมนาแต่ละกลุ่ม และการประชุมเพื่อเตรียมดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
    จากการนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียน และในภาพรวม สามารถสรุปสาระสำคัญและมีสไลด์ประกอบการนำเสนอของแต่ละโรงเรียนดังนี้

 

 

 

วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ประชุมปฏิบัติการกรรมการเครือข่าย SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา


ภาพเพิ่มเติม...
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 เวลา 10.00-16.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะกรรมการดำเนินงานในโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ฯ หรือโครงการ SMP จัดประชุมปฏิบัติการเพื่อร่วมกันกำหนดแผนงาน กิจกรรมในการดำเนินงานร่วมกัน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560  ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2559 โดยการบันทึกความร่วมมือ (MoU) ดำเนินงานร่วากันระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เครือข่ายทั้ง 6 โรงเรียน และสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา โดยมีผู้แทนจากโครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้บริหาร ผู้สอนในโครงการ SMP จาก 6 โรงเรียน และผู้แทนจากสำนักงานการศึกษาเอกชนประจำอำเภอและจังหวัดยะลา กว่า 60 คน ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดี ประธานที่ปรึกษาโครงการ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ เปิดการประชุม และให้นโยบายในการขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดยะลา ทั้งนี้ ได้กล่าวชื่นชมผลการดำเนินงานโครงการ SMP ของมหาวิทยาลัยและขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ยินดีเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนโครงการนี้ให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเอง มีหลักสูตรทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เกษตรศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้นักเรียนเลือกศึกษาต่อ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีความพร้อมทั้งคณาจารย์ ห้องปฏิบัติการ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีคุณภาพมากเพียงพอ
 นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนี้ ยังมีการนำเสนอผลการดำเนินงานของโครงการ SMP ในปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมาโดย ดร.สายใจ แก้วอ่อน ผู้อำนวยการสำนักงานคณบดีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร และมีการนำเสนอผลการวิจัยประเมินโครงการประจำปี 2559 ที่ผ่านมา โดย ผศ.ดร.รุ้งลาวัณย์ จันทรัตนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ผลการดำเนินงานใน
โครงการ SMP ในปีงบประมาณที่ผ่านมา มีผลการวิจัยอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลการประเมินจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปัญหาอุปสรรคสำคัญที่พบ ได้แก่ ความชัดเจนในระยะแรกของการการดำเนินงานโครงการ การปรับปรุงสิ่งก่อสร้างห้องปฏิบัติการของแต่ละโรงเรียน ซึ่งมีขนาดและมาตรฐานที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความล่าช้าในการออกแบบ การกำหนดรายการประกอบแบบ (BoQ) ที่สอดคล้องกับราคากลางหรือราคามาตรฐาน การขาดช่างฝีมือแรงงานในพื้นที่  นอกจากนั้น เรื่องเวลาที่จำกัดสำหรับนักเรียนในการเข้าร่วมกิจกรรม มีวันหยุดเรียนบ่อย เป็นต้น
     สำหรับข้อเสนอแนะจากที่ประชุม ทางผู้แทนสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา ได้ให้ความเห็นว่า โครงการ SMP เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในพื้นที่ เพราะเป็นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาครูผู้สอน และการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่จะส่งเสริมให้นักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หันมาสนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ประยุกต์หรือที่เกี่ยวข้อง  ส่วนทางผู้บริหารโรงเรียน ให้ข้อเสนอแนะว่า ทางสำนักงานการศึกษาเอกชนมีโครงการพัฒนาโรงเรียนในสังกัดอยู่ ควรพิจารณาว่าสามารถทำร่วมกันกับโครงการ SMP ได้หรือไม่ จะได้เป็นการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกัน โดยเฉพาะใน 6 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ SMP