วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดสัมมนาปฏิบัติการ

ระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคม 2560 โครงการห้องเรียน SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดกิจกรรมประชุมสัมมนาปฏิบัติการติดตามและประเมินผลโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หรือ Science Mathematics Program: SMP ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 ณ โรงแรมการ์เด็นวิว อ.เบตง จ.ยะลา โดยมีคณะผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครองจากโรงเรียนเครือข่าย 6 โรงเรียน รวมทั้งผู้บริหารและคณาจารย์กรรมการโครงการและเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ประจำโครงการ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รวมทั้งผู้แทนจากสำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) จังหวัดยะลา รวมจำนวน 60 คน ทั้งนี้ เพื่อประเมินความสำเร็จของโครงการ และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steakholder) กับโครงการ ทั้งนี้ โดยมีอาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีผู้กำกับโครงการให้เกียรติเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นประธานเปิดกิจกรรมและอยู่ร่วมกิจกรรมตลอดทั้ง 2 วัน
     กิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการในช่วง 2 วันนี้ ได้แก่ การนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียน การนำเสนอผลงานจากโครงการ SMP โดยนักเรียน การจัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม (Focus Group) ของผู้เข้าร่วมสัมมนาแต่ละกลุ่ม และการประชุมเพื่อเตรียมดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
    จากการนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียน และในภาพรวม สามารถสรุปสาระสำคัญและมีสไลด์ประกอบการนำเสนอของแต่ละโรงเรียนดังนี้

 

 

 




โรงเรียนสุทธิศาสตร์วิทยา ต.รามัน จ.ยะลา
  • ผู้บริหารและผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ SMP โดยเฉพาะในเชิงวิชาการมากขึ้น ข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนาผู้บริหาร ได้แก่ การส่งเสริมการไปราชการเพื่อพัฒนาตนเองของครู การเพิ่มสวัสดิการ การกำหนดนโยบายเลือกเทคนิคการสอนให้ชัดเจน
  • มีการส่งเสริมให้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เพิ่มทักษะการวิเคราะห์ สังเคราะห์เพิ่มขึ้น ได้แก่ การใช้โครงงานเป็นฐาน การสอนแบบสาธิต การสอนด้วยการทดลองทำจริง โดยใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้รับจากโครงการ
  • การส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในโครงการ SMP ให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในการจัดการเรียนการสอน
  • โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมนิเทศติดตามการสอนโดยเพื่อนครูด้วยกัน รวมทั้งผู้บริหารด้วย
  • จุดเด่นที่เกิดจากโครงการ SMP ได้แก่ นักเรียนมีพฤติกรรมหลายๆ ด้านดีขึ้น อาทิเชน มีวินัย มีความใฝ่เรียนใฝ่รู้ รักการอ่านมากขึ้น มีทักษะการใช้ภาษาไทยดีขึ้น กล้าคิดกล้าแสดงออก มีความมั่นใจมากขึ้น และนักเรียน SMP ทำชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนทั้งด้านวิชาการ กีฬา และศิลปะ 
โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ ต.ปะแต อ.ยะลา จ.ยะลา
  • ปีการศึกษา 2560 การสอนห้องเรียน SMP สอนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในการใช้ภาษาต่างประเทศ
  • ส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้จากการลงมือทำ โดยใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้จากโครงการ
  • ห้องเรียน SMP เป็นห้องเรียนที่สร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน
โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จังหวัดยะลา 
  • ลักษณะการจัดการเรียนการสอน แยกเป็น 2 ห้องเรียน คือ ห้องนักเรียนชายและนักเรียนหญิง
  • การจัดการเรียนการสอนห้องเรียน SMP ดำเนินการ เรียนรู้ และปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 
  • โรงเรียนมีกิจกรรมสนับสนุนเสริม เช่น การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิชาการช่วงหลังเลิกเรียนในรายวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
  • การเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการ ได้แก่ วิชาเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา โรงเรียนได้พยายามให้ครูที่ได้รับการอบรมได้พยายามจัดการเรียนรู้ในห้องปฏิบัติการ แต่เนื่องจากมีเวลาจำกัด อาจยังไม่สามารถดำเนินการได้ทุกครั้ง
  • ปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ การใช้สารเคมี เพราะบางส่วนเพิ่งได้รับจากการจัดซื้อ
  • กิจกรรมเสริมอื่นๆ ทางโรงเรียนพยายามเสริมนักเรียน SMP ได้แก่  การจัดกิจกรรมมหวิชาการในโรงเรียน นักเรียนห้องเรียน SMP จะมีเต็นท์แสดงผลงานของห้องเรียนโดยเฉพาะ  การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน ในสัปดาห์วิทยาศาสตร์ "มรย.วิชาการ" ในปี 2560 คาดว่าจะมีโครงงานส่งเข้าประกวดกว่า 10 ชิ้นงาน
  • กิจกรรมค่ายไอซีทีของนักเรียนรุ่นที่ 1 (ม.4) ได้นำความรู้ไปสร้างผลงานต่อยอดได้เป็นอย่างดี เช่น การอบรมการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ การใช้ Google App for Education
  • แนวทางในการพัฒนาอื่นๆ อาทิเช่น การพยายามจัดหาครูเสริมศักยภาพให้แก่นักเรียนช่วงเย็น  การเรียนห้องปฏิบัติการช่วงกลางคืน  การเน้นครูผู้สอนเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ให้ใช้ห้องปฏิบัติการ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบใหม่ TCAS  (การสอนเสริม GAT, PAT)  นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาด้าน EQ  โดยส่งเสริมให้นักเรียนเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยในพื้นที่  นอกจากนี้ ยังมีการส่งนักเรียนสมัครเข้าค่าย Pre-Olympic ค่ายที่ 1 ได้จำนวนกว่า 20 คน 
  • การเร่งผลิตสื่ออีเลิร์นนิ่งผ่าน Moodle ที่โรงเรียนใน SMP ทำ MoU กับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา)
โรงเรียนมะอาหัสอิสลามียะห์ ต.บารอ อ.รามัน จ.ยะลา
  • นักเรียนในโครงการ SMP มีกิจกรรมการเรียนด้วยความสนุก เพลิดเพลินมาก จากการได้ลงมือปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ
  • นักเรียนระดับชั้นมัธยมต้นก็ให้ความสนใจห้องเรียน SMP มากขึ้น รวมถึงผู้ปกครองให้ความสนใจในห้องเรียนนี้ด้วย
  • นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น เริ่มมีนักเรียนที่สร้างผลงานให้แก่โรงเรียน เช่น สอบเข้าโครงการ Pre-Olympic ได้จำนวน 1 คน ซึ่งเป็นคนเดียวในอำเภอรามัน ที่ผ่านมาไม่เคยได้
  • มีการพัฒนาครูเพิ่มเติมให้มีทักษะในการจัดการเรียนรู้ในระบบอีเลิร์นนิ่ง ร่วมศูนย์คอมพิวเตอร์ มรย. โดยเผยแพร่ระบบอีเลิร์นนิ่งสำหรับห้องเรียน SMP ไว้ที่   http://vc-ma.yru.ac.th นับเป็นความก้าวหน้าของโรงเรียน
  • นักเรียนมีผลงานนำเสนอผลงาน (Presentation) ของห้องเรียน SMP ตั้งแต่ปีการศึกษา 2559-2560 ซึ่งใช้ความรู้และทักษะจากการเข้าค่ายไอซีทีที่โครงการ SMP จัดให้แก่นักเรียนระดับชั้น ม.4
โรงเรียนดำรงวิทยา ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา
  • มีการพัฒนานักเรียนก่อนและหลังก่อนเข้าร่วมโครงการ SMP โดยให้ความร่วมมือกับ มรย. เช่น กิจกรรมปฐมนิเทศ กิจกรรมปรับพื้นฐานนักเรียนใหม่ กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ ณ สวทช.
  • นักเรียนมีเจตคติที่ดีด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น สังเกตได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ โดยนักเรียนให้ความสนใจมากขึ้น
  • นักเรียนในโครงการ SMP มีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่มีความกระตือรือร้น รับผิดชอบอย่างเห็นได้ชัด 
  • นักเรียนมีทักษะชีวิต ทำงานเป็นทีม เกาะกลุ่มกัน
  • นักเรียนมีทักษะในการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์
  • สำหรับจุดด้อย เช่น การใช้ภาษาไทยไม่คล่อง เนื่องจากการใช้ภาษามลายูถิ่นในชีวิตประจำวัน ขาดความรู้พื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ ทำให้การเรียนเป็นไปอย่างล่าช้า 
  • การพัฒนาครู เช่น กิจกรรมทบทวนและจัดทำหลักสูตร  กิจกรรมอบรมการทำโครงงาน  
  • ครูผู้สอนมีทักษะในการสอนเพิ่มขึ้น สามารถใช้อุปกรณ์ เครื่องมือเพิ่มขึ้น และถ่ายทอดความรู้และทักษะมากขึ้น
  • ด้านการใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์อย่างคุ้มค่า ใช้ตลอดเวลา โดยให้นักเรียนนอกโครงการ SMP ได้มีโอกาสเข้ามาใช้ห้องปฏิบัติการได้ด้วย
  • สำหรับปัญหา ได้แก่ ห้องเรียนยังไม่อำนวยต่อการเรียนการสอนทั้งอาคาร ยกเว้นห้อง SMP ที่เสร็จสิ้นเรียบร้อย  ครุภัณฑ์บางอย่างไม่คงทน เช่น อ่างน้ำ 
  • ข้อเสนอแนะ อยากให้สนับสนุนทุนการศึกษานักเรียนดี และสนับสนุนแหล่งเรียนรู้  การจัดทำสื่อคณิตศาสตร์ให้แก่โรงเรียน อยากให้มีการติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการด้วย เช่น ถังดับเพลิง
นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรมสนทนากลุ่ม เพื่อร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับโครงการในประเด็นข้อดี ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน ผู้ปกครอง นักเรียน คณะกรรมการดำเนินงานโครงการ และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ ผลการระดมสมอง มีรายละเอียดและสาระสำคัญสามารถนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงการดำเนินงานในโครงการ SMP ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายต่อไป [รายงานสรุปผลการสนทนากลุ่มแต่ละกลุ่ม]

 

 
 

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น