แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประชาสัมพันธ์ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประชาสัมพันธ์ แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลารับสมัครนักศึกษาใหม่ระบบ TCAS รอบแรก


มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประกาศคัดเลือกนักศึกษารอบที่ 1 ประเภทการรับแบบ Portfolio ประจำปีการศึกษา 2561 มีกำหนดกาดังนี้
รอบที่ 1/1
  1. กรอกใบสมัครผ่านระบบตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน - 30 พฤศจิกายน 2560 (เลื่อนเป็น 25 กันยายน 2560)
  2. ยื่นใบสมัครพร้อมหลักฐานประกอบการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2560 ณ กองบริการการศึกษา สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
  3. ประกาศผลการคัดเลือกในวันที่ 10 ธันวาคม 2560
  4. ผู้ผ่านการคัดเลือกยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ Clearing House ของทปอ. ตั้งแต่วันที่ 15 - 19 ธันวาคม 2560
  5. ประกาศรายชื่อผู้ยืนยันสิทธิ์ ในวันที่ 22 ธันวาคม 2560
รอบที่ 1/2
  1. ไม่เคยผ่านการยืนยันสิทธิ์ในรอบที่ 1 ครั้งที่ 1
  2. กรอกใบสมัครผ่านระบบตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม - 28 กุมภาพันธ์ 2561
  3. ยื่นใบสมัครพร้อมหลักฐานประกอบการรับสมัครตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2560 - 28 กุมภาพันธ์ 2561 ณ กองบริการการศึกษา สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
  4. ประกาศผลการคัดเลือกในวันที่ 10 มีนาคม 2561
  5. ผู้ผ่านการคัดเลือกยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ Clearing House ของทปอ. ตั้งแต่วันที่ 19 - 22 มีนาคม 2561
  6. ประกาศรายชื่อผู้ยืนยันสิทธิ์ ในวันที่ 26 มีนาคม 2561
ระบบรับสมัคร eduservice.yru.ac.th/tcas/portfolio (เปิดรับสมัครตั่งแต่วันที่ 25 กันยายน 2560 เป็นต้นไป)
สาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดูรายละเอียดที่  http://smp-yru.blogspot.com/p/blog-page_26.html

วันศุกร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2560

โรงเรียน SMP เครือข่ายของ ม.ราชภัฎยะลาสร้างแรงบันดาลใจ หนุนเยาวชนชายแดนใต้เรียนวิทย์-ผลิตหุ่นยนต์


     คณะวิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา หนุนการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา ผลิตหุ่นยนต์ สร้างแรงบันดาลใจเรียนวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน จชต. 
    ดร.มูนีเร๊าะ ผดุง ประธานหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา ร่วมกับสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เห็นสำคัญในการจัดการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมในการเรียนการสอนแบบใหม่ที่นิยมใช้ ซึ่งทางรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ด้วยกัน รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ดังนั้นทางหลักสูตรจึงนำสะเตมศึกษามาใช้ในการสร้างหุ่นยนต์เบื้องต้น ซึ่งเป็นการต่อยอดหลักสูตร โดยบูรณาการการเรียนการสอน นำเทคโนโลยีเข้ามา โดยการสร้างหุ่นยนต์มาประกอบเป็นสิ่งประดิษฐ์ ในการประกอบหุ่นยนต์นั้นต้องเขียนโปรแกรมทางคณิตศาสตร์ ทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะถ้านักศึกษาเขียนโปรแกรมอย่างเดียวก็จะไม่เห็นภาพ แต่ถ้ามีผลงานเป็นชิ้นงาน นักศึกษาจะมีแรงจูงใจในนำผลงานที่เป็นหุ่นยนต์ของตนเอง สำหรับหุ่นยนต์ที่ผลิตจะเป็นหุ่นยนต์ควบคุมแบบการแข่งขันเตะฟุตบอล ซึ่งใช้โปรแกรมควบคุม [อ่านเพิ่มเติม...]

วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560

ประชุมคณะกรรมการมอบหมายภารกิจในการดำเนินงานโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๑

          วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. ณ ห้องประชุมลาดา ชั้น ๒ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดประชุมมอบหมายภารกิจในการดำเนินงานโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ร่วมกับศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยมี ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประธานโครงการ SMP ผศ.ดร.สุกินา อาแล ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษา และบุคลากรในสังกัด (http://clas.yru.ac.th/) ซึ่งได้มอบหมายกิจกรรมภายใต้ศูนย์ภาษาและอาเซียนศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ๓ กิจกรรม ดังนี้
         


          ๑. English for Communication (สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔)
          ๒. English for Pleasure (สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔, ๕)
          ๓. Basics English for Teachers (สำหรับครู)
          เพื่อให้พร้อมสำหรับการจัดกิจกรรมได้ทัน ในปีการศึกษา ๒๕๖๑ ซึ่งมีโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดยะลา ๖ โรงเรียน และเพิ่มอีก ๓ โรงเรียน รวมนักเรียนทั้งหมดในโครงการ SMP จำนวน ๘๒๙ คน


         
          การประชุมนำเสนอ เรื่อง การปรับปรุงห้องปฏิบัติการต้นแบบวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ ในโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดยะลา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๑ เพิ่มอีก ๓ โรงเรียน โดยมีดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประธานโครงการ SMP และคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ SMP โดยมีคุณภัทราวุธ หนูทิมทอง ตัวแทนจากบริษัท ออฟฟิเชียล อีควิปเม้น แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด: OFFICIAL EQUIPMENT MANUFACTURING Co.,Ltd  การนำเสนอห้องปฏิบัติการต้องแบบวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ การออกแบบห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัย

วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2560

การจัดสรรงบประมาณและการดำเนินงานโรงเรียน SMP ในปีงบประมาณ 2561


ในวันที่ 3 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดี ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ (http://sirichai.yru.ac.th) ได้รับมอบหมายจากอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภักยะลา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ พร้อม ผู้ช่วยเกสรี ลัดเลีย และคุณมนตรี อุดมพงษ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองนโยบายและแผน (http://president.yru.ac.th/plan) ให้เดินทางไปนำเสนอและสนับสนุนข้อมูลสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อเสนอคำของบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ณ อาคารรัฐสภา อาคาร 2 กรุงเทพมหานคร โดยส่วนราชการจะต้องเสนอของบประมาณนอกเหนือจากงบพื้นฐานเป็นโครงการภายใต้แผนบูรณาการ (http://www.bb.go.th/bbweb/?page_id=7045) ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้เสนอโครงการของบประมาณภายใต้งบบูรณาการ "แผนบูรณาการการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้"  อย่างต่อเนื่องมาตลอดมากกว่า 3 ปี โดยโครงการการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Science and Mathematics Program: SMP) เป็นกิจกรรมสำคัญกิจกรรมหนึ่งของโครงการหลักของมหาวิทยาลัยภายใต้ชื่อโครงการคือ "การพัฒนาคุณภาพาสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษาชายแดนใต้"
   ผลการนำเสนองบประมาณภายใต้ "แผนบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ต่อคณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างที่ปรึกษา (งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่น) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2560 โครงการ SMP ไม่มีข้อเสนอแนะให้ปรับแก้ใดๆ ซึ่งคาดว่าโครงการและงบประมาณที่เสนอดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 จะเป็นไปตามที่เสนอขอ ทั้งนี้ ต้องรอผลการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2561 ในวาระที่ 2,3 ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะประชุม 31 สิงหาคม 2560 และคาดว่าจะเรียบร้อยด้วยดี และผ่านเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561 และประกาศใช้ต่อไป
   ดังนั้นในการดำเนินงานโครงการ SMP ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รับผิดชอบพัฒนาโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในเขตจังหวัดยะลา และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี รับผิดชอบสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาฯในจังหวัดปัตตานี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ รับผิดชอบสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาฯ ในจังหวัดนราธิวาส จะได้ดำเนินงานการอย่างต่อเนื่องต่อไป และสร้างความเข้มแข็งการบูรณาการร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สำนักงานการศึกษาเอกชน โรงเรียนในโครงการ นักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อให้ห้องเรียน SMP ของโรงเรียนในโครงการได้รับพัฒนาจนสำเร็จตามเป้าหมายต่อไป อีกทั้ง ห้องเรียน SMP จะเป็นโครงการสำคัญในการสนับสนุนการจัดตั้ง "สถาบันพัฒนาครูและบุคลากรชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา" (http://pts.yru.ac.th) ให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
   ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะยังคงพัฒนานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4,5,6 ครูและผู้บริหาร ผู้ปกครองโรงเรียนเครือข่ายเดิม 6 โรงเรียน และเพิ่มกลุ่มเป้าหมายโรงเรียนใหม่อีกจำนวน 3 โรงเรียน โดยรับนักเรียนรุ่นแรกของ 3 โรงเรียนใหม่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนละ 1 ห้อง ห้องละ 40 คน  สำหรับโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือก จะประกาศแนวทางและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการต่อไป

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ขอเชิญโรงเรียนเครือข่าย SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเข้าร่วมกิจกรรม "มรย.วิชาการ" และ "งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ปี 2560"


       มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะจัดงาน "มรย.วิชาการ 60" โดยใช้กรอบการดำเนินงานปีนี้คือ "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้ สู่ Thailand 4.0" และ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร จะจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 15-19 สิงหาคม 2560 นี้ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จึงขอเชิญชวนผู้บริหาร คณาจารย์ และนักเรียน โรงเรียนในเครือข่าย SMP เข้าร่วมงานและร่วมจัดนิทรรศการวิทยาศาสตร์ ตามรายละเอียดดังลิงก์ต่อไปนี้


  • งาน มรย.วิชาการ 60 "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้ สู่ Thailand 4.0"




วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

ประชุมคณะกรรมการปฏิบัติงานโครงการ SMP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการ

 โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดกิจกรรมประชุมกรรมการปฏิบัติงานประจำโครงการ เมื่อ 20 เมษายน 2560 เวลา 13.30-16.00 น. ณ ห้องประชุม กลาดี อาคารเฉลิมพระเกียรติวชิราลงกรณ (อาคาร 20) ซึ่งมี อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้ดูแลโครงการเป็นประธาน ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยผู้จัดการโครงการและนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ (ปฏิบัติงานสนับสนุนห้องปฏิบัติการประจำโรงเรียน)  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรอบการปฏิบัติงานและกำหนดตัวชี้วัดรายบุคคล (KPIs) ให้แก่บุคลากรประจำโครงการให้สามารถปฏิบัติงานเชิงรุกได้ตามเป้าหมายของโครงการ และร่วมกันเตรียมดำเนินงานกิจกรรมของโครงการในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย รวมถึงเตรียมการลงพื้นที่นิเทศผลการดำเนินงานโครงการห้องเรียน SMP ในพื้นที่ 6 โรงเรียนในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2560  และการเตรียมการร่วมจัดนิทรรศการงาน "มหกรรมวิชาการเพื่อการมีงานทำจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2560" ระหว่างวันที่ 15-19 สิงหาคม 2560 เพื่อแสดงผลงานและความสำเร็จของโครงการ SMP ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นผู้ร่วมดำเนินงานกับเครือข่ายสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ผลการดำเนินงานโครงการ จะได้เผยแพร่ในโอกาสต่อไป


วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560

แสดงความยินดีกกับนักเรียนในโครงการ SMP

แสดงความยินดีกับนักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษ 
Science Mathematics Program (SMP) 
ที่สอบผ่านการคัดเลือกค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ ปีที่ 2 ประจำปีงบประมาณ  2560 
      
        ด้วยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา สำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 15 จัดค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ สำหรับนักเรียนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 4 สาขาวิชา คือ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยาและฟิสิกส์ เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและปลูกฝังทัศนคติด้านวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน และพัฒนาทักษะชีวิต การทำงานเป็นทีม และมิตรภาพระหว่างนักเรียน โดยคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นวิทยากรให้ความรู้
        โครงการห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP) ในเครือข่ายพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดยะลา ที่สอบผ่านการคัดเลือกค่ายพรีโอลิมปิกวิชาการ ปีที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 23 คน และสำรองจำนวน 10 คน โดยมีดังนี้ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ, โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์, โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา, โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์บาลอ และโรงเรียนดำรงวิทยา 
รายชื่อนักเรียนที่สอบผ่านการคัดเลือกวิชาคณิตศาสตร์ 
รายชื่อนักเรียนที่สอบผ่านการคัดเลือกวิชาชีววิทยา

รายชื่อนักเรียนที่สอบผ่านการคัดเลือกวิชาฟิสิกส์
รายชื่อนักเรียนที่สอบผ่านการคัดเลือกวิชาเคมี

วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

คณะผู้บริหารโรงเรียนเครือข่ายในโครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เยี่ยมเยือนห้องวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โครงการ SMP

      เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2560 คณะกรรมการศึกษาเอกชนและผู้บริหารโรงเรียนในเครือข่ายพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ได้มาเข้าร่วมประชุมหารือ ณ. โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ ในหัวข้อการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนใน 5 ด้าน คือ
1. ด้านส่งเสริมพัฒนาวิชา
2. ด้านสหกรณ์
3. ด้านเกษตรและโภชนาการ
4. ด้านสุขภาพอนามัยเด็ก
5. ด้านการฝึกอาชีพ 

     คณะทีมงานทุกท่านได้ให้ความสนใจห้องวิทยาศาสตร์และห้องคณิตศาสตร์ โดยนักเรียนในโครงการ SMP ได้เป็นตัวแทนกล่าวต้อนรับ และนำเสนอการใช้งานห้องปฏิบัติการพร้อมกับเล่าประสบการณ์ที่ได้เป็นนักเรียนในโครงการฯ


 



 จากกิจกรรมดังกล่าวสร้างประสบการณ์ให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออก กล้าคิดกล้าตัดสินใจ มีการพัฒนาด้านบุคลิกภาพ มีใจรักในการบริการวิชาการ  นำไปสู่การพัฒนาตนเองให้มีคุณภาพทั้งด้านตนเองและสังคมต่อไป

วันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ผลการวิจัยประเมินโครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559

Download [ฉบับเต็ม] [สไลด์นำเสนอ]
การดำเนินงานโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทย์-คณิต หรือโครงการจัดตั้งห้องเรียน SMP ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร (http://science.yru.ac.th) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในพื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 6 โรงเรียน และโดยการสนับสนุนของสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา และเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นับเป็นรูปแบบการพัฒนาเพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างไปจากในพื้นที่อื่นๆ รวมถึงหลักสูตรการเรียนรู้ที่มีทั้งการสอนด้านศาสนาและสายสามัญควบคู่กัน
   การดำเนินงานโครงการ SMP ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา (งบประมาณ พ.ศ. 2559) มีรูปแบบการดำเนินงานโครงการในลักษณะความร่วมมือการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด อาจเรียกว่าได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันในลักษณะคณะกรรมการฯ ทั้งจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ที่สำคัญคือรูปแบบกิจกรรมมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาในทุกมิติที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษาได้ เช่น การพัฒนาผู้บริหาร การพัฒนาครู การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาห้องปฏิบัติการ ครุภัณฑ์ จัดหาหนังสือ การพัฒนานักเรียน มีกระบวนการติดตามลงพื้นที่นิเทศและให้คำปรึกษา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จึงทำให้โครงการดังกล่าว มีลักษณะพิเศษในความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เข้าใจเป้าหมายของโครงการตรงกัน นอกจากนนั้น ยังได้มีกระบวนการติดตามประเมินผลโดยใช้กระบวนการวิจัยแบบ CIPP Model ดำเนินการวิจัยโดย ผศ.ดร.รุ้งลาวัณย์ จันทรัตนา และคณะ ดำเนินการติดตามประเมินผลในทุกปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้อง ผลการวิจัยพบว่า โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในภาพรวมมีผลการประเมินความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการดำเนินงานในโครงการเห็นว่า ควรมีการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการวิจัยดังแสดงรายละเอียดไว้ในรายงานการวิจัยฉบับเต็ม หวังว่าผลการวิจัยฯ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ คณะกรรมการดำเนินงานวิจัย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไป

วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

คณะกรรมการโครงการ SMP ติดตามผลการปรับปรุงห้องปฏิบัติการ


วันที่ 27 มกราคม 2560 เวลา 13.30 น. โครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ประชุมคณะกรรมการพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ พร้อมนักวิทยาศาสตร์ประจำโรงเรียน เพื่อติดตามผลการปรับปรุงห้องปฏิบัติการ และการใช้ห้องปฏิบัติการ รวมถึงผลการดำเนินงานโครงการ ที่มีผลลัพธ์ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานในโครงการ SMP ซึ่งผลการพัฒนาห้องปฏิบัติการฯ ได้มีการปรับปรุงเกือบเสร็จสิ้นสมบูรณ์ไปกว่าร้อยละ 95 และแต่ละโรงเรียนเครือข่ายในโครงการทั้ง 6 โรงเรียน และได้เริ่มใช้ห้องปฏิบัติการจัดการเรียนการสอน มีการทดลองปฏิบัติการในรายวิชาวิทยาศาสตร์ และมีผลการจัดทำโครงงาน (Project) แสดงในนิทรรศการวิชาการของแต่ละโรงเรียนที่จัดเป็นประจำทุกปีไปบ้างแล้วในบางโรงเรียน เช่น โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนสมบูรณ์ศาสตร์   สำหรับในอนาคตแต่ละโรงเรียนจะส่งเสริมให้มีการจัดทำโครงงานเพื่อส่งนำเสนอหรือประกวดแข่งขันในระดับจังหวัดและภูมิภาค หรือในระดับประเทศต่อไป เช่น งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ประจำปี พ.ศ. 2560 งานมหกรรมวิชาการของสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา เป็นต้น



วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

โปรแกรมวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์เส้นทางสู่ 10 สาขาที่นายจ้างต้องการจ้างงานมากที่สุดในปี 2017


อาชีพ 10 อันดับแรกที่น่าสนใจ
      ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อเลือกเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะมีผลต่อการได้งานทำในอนาคตอีกระยะ 3-5 ปีข้างหน้า จากข้อมูลบทความเรื่อง 10 อันดับสาขาปริญญาตรี ที่ตลาดแรงงานต้องการมากที่สุด ประจำปี 2017 โดย NACE  โดย NACE พบว่า อาชีพที่นายจ้างต้องการมากที่สุด 10 ลำดับแรก โดยมีทั้งสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมศาสตร์ ซึ่งหากดูคุณสมบัติพื้นฐานที่จะศึกษาต่อในสาขาวิชาที่เป็นสาขา Top 10 นักเรียนจะต้องเรียนสำเร็จในโปรแกรมด้านวิทย์-คณิตเป็นหลัก จึงจะสามารถศึกษาต่อยอดในสาขาเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงแม้บางสาขาไม่ระบุก็ตาม  ดังนั้น การจัดให้มีโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรืห้องเรียน SMP ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) โดยมีมหาวิทยาลัยฯ ในพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานการศึกษาเอกชนแต่ละจังหวัด โรงเรียนเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ จึงเป็นการดำเนินงานโครงการที่เป็นประโยชน์ สร้างโอกาสให้แก่นักเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ และสร้างโอกาสในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างยั่งยืนต่อไป ด้วยบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่จะกลับมาสร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการต่อไปในอนาคต ส่งเสริมวิสัยทัศน์ประเทศไทย คือ Thailand 4.0

วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560

รับสมัครโรงเรียนเข้าร่วมโครงการเครือข่ายพัฒนาจัดการเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตแบบอีเลิร์นนิ่ง (e-Learning)

 
http://ccenter.yru.ac.th/ite/
    ด้วย งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดโครงการบริการวิชาการ ประจำปีงบประมาณ 2560 โครงการพัฒนาครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการผลิตสื่อการสอนแบบ e-Learning และ eDLTV กิจกรรมอบรมและพัฒนาระบบการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยซอฟต์แวร์ระบบจัดการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง Moodle ให้แก่โรงเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (เครือข่ายความร่วมมือ) เป็นการคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่าย เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือต่อการพัฒนาและฝึกอบรมผู้ดูแลระบบการบริหารจัดการการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (LMS) หรือการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง (e-Learning) โดยใช้ซอร์ฟแวร์ Moodle ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะให้บริการพื้นที่เครื่องแม่ข่าย และสนับสนุนอบรมผู้ดูแลระบบเบื้องต้นให้แก่โรงเรียนที่เป็นเครือข่ายในโครงการนี้ด้วย 

        เปิดรับสมัครตั้งแต่ บัดนี้ – 25 มีนาคม 2560 สอบถามรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่ คุณธนภัทร นาคิน  เบอร์โทรศัพท์ 089-9784353 และ 073-299636 ต่อ 23200 สามารถดาวน์โหลดเอกสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://ccenter.yru.ac.th/ite โดยส่งใบสมัครกลับคืนตามชื่อ-ที่อยู่ ดังนี้ สำนักวิทยบริการฯ (eDLTV) 133 ถนนเทศบาล3 ตำบลสะเตง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา 95000 หรือส่งอีเมล ite@yru.ac.th  หรือ กรณีโรงเรียนในเครือข่าย SMP YRU หากสนใจ โปรดติดต่อคุณธิดาวรรณ พูลชู เพื่อเป็นผู้ประสานงานให้
ในเบื้องต้นต่อไป

       รายละเอียดดังไฟล์แนบมานี้ [รายละเอียด...]

วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2560

โครงการ SMP เปิดให้คำปรึกษาออนไลน์การจัดการเรียนรู้ผ่าน Forum ถาม-ตอบ

 ผลจากการติดตามนิเทศการดำเนินงาน และการจัดการเรียนรู้โดยใช้ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ที่พัฒนาและปรับปรุงขึ้นในโครงการ SMP มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเมื่อช่วงวันที่ 27-28 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ปัญหาสำคัญคือ การขาดทักษะการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะการสอนเนื้อหาและทักษะห้องปฏิบัติการ การใช้เครื่องมือ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในที่ประชุมมีความเห็นร่วมกัน ควรมีการจับคู่ระหว่างอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละรายวิชาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กับครูผู้สอนแต่ละวิชาในโรงเรียนเครือข่าย เพื่อให้การจัดการเรียนรู้มีประสิทธิภาพและบรรลุผลของโครงการต่อไป





ด้วยข้อจำกัดของเวลาและระยะทาง ที่อาจารย์นิเทศก์ไม่สามารถลงพื้นที่โรงเรียนได้บ่อยครั้งและได้อย่างทั่วถึง  ดังนั้น โครงการ SMP เปิดช่องทางให้คำปรึกษาออนไลน์ด้านเทคนิค การจัดการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิชาอื่นๆ ในโครงการ SMP ผ่าน Forum ถาม-ตอบ คือ
https://groups.google.com/a/yru.ac.th/forum/?hl=th#!forum/smp-yru-forum
    จึงขอเชิญคณาจารย์ที่ปรึกษา/นิเทศก์ประจำโครงการแต่ละวิชา และครูผู้สอนจากทั้ง 6 โรงเรียนเครือข่าย เข้าร่วมกิจกรรม หากมีข้อสงสัยประการใด โปรดติดต่อ sirichai.nbr@yru.ac.th หรือ thidawan.p@yru.ac.th เพื่อดำเนินการแก้ไขและให้คำปรึกษาต่อไป ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

คณะกรรมการ SMP จาก มรย. ติดตามนิเทศผลการดำเนินงานในพื้นที่โรงเรียนเครือข่าย

ประชุมติดตามโรงเรียนสุทธิศาสตร์ ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการดำเนินงานโครงการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (SMP) โรงเรียนเครือข่ายในจังหวัดยะลา นำโดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี อาจารย์ ดร.อิสมาแอ เจ๊ะหลง  และอาจารย์นุชนารถ เต็มดี พร้อมด้วยเจ้าหน้าทีประจำโครงการ SMP ลงพื้นที่โรงเรียนสุทธิศาสตร์ ต.บ้านแหร อ.ธารโต  โรงเรียนดำรงวิทยา ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา และโรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ ต.บาลอ อ.รามัน  เพื่อติดตามผลการดำเนินงานในการพัฒนาและปรับปรุงห้องปฏิบัติการ การจัดระบบการบริการห้องปฏิบัติการ และการใช้งานห้องปฏิบัติการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน การจัดทำโครงงาน เพื่อส่งเสริมทักษะการทดลองและการลงมือปฏิบัติโดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) ร่วมกับการเรียนรู้เป็นทีม (Team-based Learning) ทั้งนี้ ให้เน้นการใช้ปัญหาในพื้นที่เป็นโจทย์ เสริมสร้างให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมทั้งเน้นการสร้างความภาคภูมิใจในผลงานของผู้เรียน
ประชุมคณะกรรมการโรงเรียนดำรงวิทยา อ.บันนังสตา จ.ยะลา
   จากผลการประชุมติดตามนิเทศร่วมกันระหว่างคณะกรรมการอาจารย์นิเทศจากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอน พบว่านักเรียนรุ่นแรกในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งกำลังเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 มีพัฒนาการในทิศทางที่ดี ทั้งด้านเจตคติ ความรู้และทักษะการทดลองในห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ เกิดจากการจัดเตรียมห้องปฏิบัติการ วัสดุและสารเคมีการทดลอง การพัฒนาครูผู้สอนให้มีทักษะการทดลองอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณที่ผ่านมา ขณะนี้ นักเรียนในโครงการเริ่มจัดทำโครงงานเพื่อร่วมนำเสนอผลงานในงานวิชาการระดับโรงเรียน และเตรียมคัดเลือกผลงานร่วมประกวดในงานวิชาการระดับจังหวัด เขตการศึกษา และนำเสนอในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ฯ ประจำปี พ.ศ. 2560 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาต่อไป
ประชุมคณะกรรมการโรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ อ.รามัน จ.ยะลา
   ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ ความพร้อมของครูผู้สอนในการใช้ครุภัณฑ์  เครื่องมือทดลอง การทำการทดลองบางการทดลอง การให้คำแนะนำการทำโครงงาน การจัดทำเอกสารรายงานโครงงาน ที่ยังขาดความเชี่ยวชาญ จึงมีความเห็นร่วมกันจะทำการสำรวจความต้องการของครูผู้สอน และจัดอบรมปฏิบัติการกลุ่มย่อยให้ ณ ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ต้นแบบ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาต่อไป