วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

โรงเรียนในเครือข่าย SMP-YRU จัดกิจกรรมทัศนศึกษาเสริมทักษะความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร


         เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 โรงเรียนในเครือข่ายโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (SMP-YRU) ประกอบด้วยโรงเรียนดำรงวิทยา โรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ และโรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา ได้จัดกิจกรรมทัศนศึกษาเสริมทักษะความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 ในโครงการ SMP-YRU จำนวน 80 คน เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน เพื่อสร้างโอกาสและแรงบันดาลใจ ความมั่นใจในตนเองของนักเรียนในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาปรับประยุกต์ใช้ในการเรียน ที่สำคัญเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้พบประสบการณ์ตรงจากวิทยากร สถานที่เฉพาะทาง อุปกรณ์ที่ทันสมัย และวิธีการเรียนรู้ที่สนุกสนาน ณ พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์
        เป็น 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลกและเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดแสดงร่างกายมนุษย์ด้วยเทคนิคพลาสติเนชัน ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิต โดยใช้การแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อด้วยสารพลาสติกเหลว ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยา ไม่มีการเน่าสลาย และสามารถคงสภาพอยู่ได้นาน ภายในจัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนของมนุษย์แบบ 3 มิติ ประกอบด้วย ร่างกายมนุษย์แบบเต็มร่าง 13 ชุด ชิ้นส่วนอวัยวะภายใน 50 ชิ้น ชิ้นส่วนอวัยวะ 27 ชิ้น ชิ้นส่วนกล้ามเนื้อ 23 ชิ้น ร่างกายมนุษย์ตัดแบ่งย่อย 6 ชุด ชิ้นหล่อแสดงระบบหลอดเลือด 5 ชิ้น และร่างกายทารกในครรภ์ 7 ชุด



พิพิธภัณฑสถานวาจวิทยาวัฑฒน์
        เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งทันตกรรมไทย ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ คณบดีคนแรกผู้ก่อตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ ในโอกาสแห่งการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 รวบรวมสิ่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์วิวัฒนาการทันตกรรมของไทย ทั้งหนังสือ เครื่องมือเครื่องใช้ทางทันตกรรม ลักษณะฟันของคนไทย รวมถึงอุปกรณ์โบราณหายากที่เก็บมาจากคณะทันตแพทยศาสตร์ นอกจากนี้ยังจัดแสดงยูนิตทำพระทนต์ เครื่องมือตรวจ กระจกส่องปากคีม แก้ว อุปกรณ์ทางทันตกรรม และเครื่องถ่ายรังสีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยทำพระทนต์สมัยยังทรงพระเยาว์ รวมถึงพระเครื่องที่มีพระทนต์ของพระองค์ที่ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำมาเป็นส่วนผสมหลัก



ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.)
        ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ผู้ขับเคลื่อนฮาลาลประเทศไทยสู่ความเป็นผู้นำด้านคุณภาพฮาลาลในระดับสากล เพื่อมุ่งพัฒนา “วิทยาศาสตร์ฮาลาล อัตลักษณ์ประเทศไทย” วิจัยและพัฒนางานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฮาลาล เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมุสลิมและมิใช่มุสลิม และเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย โดยใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สาขาต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และสรรสร้างวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับในสังคมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น