วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2565

ปฏิบัติการใช้สื่ออย่างง่ายทางชีววิทยา ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในโครงการ SMP-YRU โรงเรียนดำรงวิทยา


           เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 นางสาวชัซวานี เปาะตองเซ็ง ครูผู้สอนรายวิชาชีววิทยา ได้จัดการเรียนการสอนปฏิบัติการใช้สื่ออย่างง่ายทางชีววิทยา เรื่องโครงสร้างของสารพันธุกรรม (DNA) โดยจัดแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Google Meet) มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นภาพและเข้าใจเนื้อหาเกี่ยวกับพันธุศาสตร์มากยิ่งขึ้น ผู้เรียนเกิดความรู้สึกสนุก มีเจตคติที่ดีต่อรายวิชามากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์และต่อยอดใช้ในอนาคตต่อไปได้

          การจัดการเรียนการสอนปฏิบัติการใช้สื่ออย่างง่ายทางชีววิทยา เรื่องโครงสร้างของสารพันธุกรรม (DNA) ได้จัดขึ้นหลังจากที่ครูผู้สอนได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้สื่อการสอนอย่างง่ายทางชีววิทยา (พันธุศาสตร์) เพื่อพัฒนาผู้เรียน สำหรับครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่จัดขึ้นโดย หลักสูตรชีววิทยาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากการนำงานบริการวิชาการไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์นั้น นักเรียนเกิดองค์ความรู้ที่ยั่งยืน ผ่านการลงมือปฏิบัติ นักเรียนได้พัฒนาทักษะด้านความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาพันธุศาสตร์มากยิ่งขึ้น และนักเรียนเกิดการเรียนรู้ เกิดความสนุกสนานที่ได้ลงมือปฏิบัติ

วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2564

กิจกรรมแนะแนวโครงการ SMP-YRU โรงเรียนดำรงวิทยา

        
        วันที่ 27 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00 - 15.30 น. ณ ห้องประชุมโรงเรียนดำรงวิทยา โครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ Science Mathematics Program : SMP - YRU โรงเรียนดำรงวิทยา ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ และแนะแนวโครงการ SMP-YRU ให้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยมีนายอับดุลรอศักดิ์ ยูโซ๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนดำรงวิทยา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด และมีฝ่ายวิชาการศาสนาและสามัญ เข้าร่วมพบปะนักเรียนในครั้งนี้ด้วย

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564

กิจกรรมเปิดโลกการศึกษาเพื่ออนาคตใหม่ (New Normal) เลือกเรียนคณะที่ใช่สู่อาชีพที่ฝัน

          วันเสาร์ ที่ 25 ธันวาคม 2564 เวลา 08.30-12.15 น. โดยได้รับเกียรติจากท่าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ  โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมฯ ในครั้งนี้ พร้อมด้วยอาจารย์ ดร.ศิริชัย  นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รองศาสตราจารย์ ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลิลลา  อดุลยศาสน์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ้งลาวัลย์  จันทรัตนา คณบดีคณะครุศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิชาภัทรชย์ รวิชาติ์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ผู้บริหาร คุณครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ดำเนินจัด "กิจกรรมเปิดโลกการศึกษาเพื่ออนาคตใหม่ (New Normal) เลือกเรียนคณะที่ใช่สู่อาชีพที่ฝัน" ให้กับนักเรียนโรงเรียนเครือข่ายโครงการ SMP-YRU ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meeting จำนวน 15 โรงเรียน0ได้แก่ โรงเรียนเจริญศาสน์วิทยา โรงเรียนดำรงวิทยา โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ โรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ โรงเรียนประทีปวิทยา โรงเรียนคัมภีร์วิทยา โรงเรียนดารุลฮูดาห์วิทยา โรงเรียนพัฒนาวิทยากร โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ โรงเรียนผดุงศิลวิทยา และโรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะแนวการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา รวมถึงเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การรับเข้าศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา "คลังปัญญาแห่งชายแดนใต้"  (https://www.yru.ac.th/th/) ประกอบด้วย 4 คณะดังนี้ 1.วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร (https://science.yru.ac.th/science2016/) 2.คณะครุศาสตร์ (https://edu.yru.ac.th/th/) 3.คณะวิทยาการจัดการ (https://fms.yru.ac.th/web59/) และ 4.คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (https://human.yru.ac.th/web59/โดยให้แต่ละคณะนำเสนอแนะแนวiรูปแบบการเรียนและอาชีพ เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจเข้ามาศึกษาต่อในคณะฯ ต่อไป 

วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ประชาสัมพันธ์กิจกรรมเปิดโลกการศึกษาเพื่ออนาคตใหม่ New normal เลือกเรียนคณะที่ใช่สู่อาชีพที่ฝัน

           ด้วย
โครงการ SMP-YRU ในโรงเรียนการพัฒนาพื้นที่จังหวัดยะลา ได้กำหนดจัดกิจกรรมเปิดโลกการศึกษาเพื่ออนาคตใหม่ (New Normal) เลือกเรียนคณะที่ใช่สู่อาชีพที่ฝัน ให้กับนักเรียนโรงเรียนเครือข่ายโครงการ SMP-YRU ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1 โรงเรียน และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 14 โรงเรียน0ได้แก่ โรงเรียนเจริญศาสน์วิทยา โรงเรียนดำรงวิทยา โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ โรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา โรงเรียนสมบูรณ์ศาสน์ โรงเรียนสุขสวัสดิ์วิทยา โรงเรียนมะอาหัดอิสลามียะห์ โรงเรียนประทีปวิทยา โรงเรียนคัมภีร์วิทยา โรงเรียนดารุลฮูดาห์วิทยา โรงเรียนพัฒนาวิทยากร โรงเรียนตาร์เบียตุลวาตันมูลนิธิ โรงเรียนผดุงศิลวิทยา และโรงเรียนสุทธิศาสน์วิทยา ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะแนวการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา รวมถึงเผยแพร่และประชาสัมพันธ์การรับเข้าศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในวันที่ 25 ธันวาคม 2564 เวลา 08.30  12. 15 น. ด้วยโปรแกรม Zoom Cloud โดยมี Meeting ID: 7945264970 Passcode: 072749


วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564

นักเรียนในโครงการ SMP-YRU ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนดำรงวิทยา จัดกิจกรรม English for child

            เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เวลา 08.00 – 16.30 น. นางสาวนูรีซัน ดีนา นักเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษ Science Mathematics Program (SMP-YRU) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 พร้อมด้วยทีมงาน ได้จัดกิจกรรม English for child ในหัวข้อเรื่อง Public speaking ให้กับนักเรียนระหว่างชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 – 6 ที่มีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 28 คน ณ ห้องประชุมโรงเรียนดำรงวิทยา โดยมีนายอับดุลรอศักดิ์ ยูโซ๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนดำรงวิทยา ให้เกียรติมากล่าวเปิดพิธี และมีอาจารย์มูฮำมัด หะยีเลาะ อาจารย์สาขาภาษาอังกฤษ สังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นวิทยากรในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

แนวทางการพัฒนาต่อยอดนักเรียนในโรงเรียนและชุมชนในโครงการ SMP-YRU ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

           ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือที่รู้จักในโครงการ SMP-YRU มาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2565 โดยได้รับงบประมาณแผ่นดินอุดหนุนภายใต้แผนบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับพัฒนาห้องเรียนต้นแบบโปรแกรมด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่สามัญในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาและสร้างการรับรู้ ความรู้ความเข้าใจแก่เยาวชนเกี่ยวกับการดำเนินงานของภาครัฐในพื้นที่โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นฐาน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลารับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดยะลา รวมทั้งหมด 15 โรงเรียน มีจำนวนนักเรียนระดับชั้น ม.4-6 ที่ผ่านการพัฒนาในโครงการนี้มากว่า 2,500 คน มีนักเรียนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนที่เข้าร่วมในโครงการในช่วงปี 2559-2562 แล้ว จำนวน 4 รุ่น กว่า 300 คน ส่วนใหญ่สนใจและสามารถศึกษาต่อปริญญาตรีในสาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ได้ และในสาขาอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยในพื้นที่และมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง


     ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งตามแนวทางในแผนบูรณาการการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเน้นให้ปรับกิจกรรมเพื่อที่จะไม่ให้ซ้ำซ้อนกับงานประจำ (Function) ของหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบอยู่แล้ว และได้กำหนดพื้นที่พัฒนาเร่งด่วนไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2566 พื้นที่ทั้ง 15 โรงเรียนและชุมชนรอบ ๆ โรงเรียน จึงเป็นพื้นที่การขยายผลและต่อยอดการดำเนินงานในโครงการเดิม โดยการใช้กลุ่มเป้าหมายในโรงเรียน SMP-YRU จำนวน 15 โรงเรียน บูรณการร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คุ้มค่าคุ้มทุนที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว โดยเน้นให้โรงเรียน ชุมชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกันให้เกิดความมั่นคลและยั่งยืนต่อไป  

      ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการระดับมหาวิทยาลัยฯ เมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 คณะกรรมการโครงการฯ จึงได้เสนอ (ร่าง)  โครงการพัฒนาทักษะเสริมการเรียนรู้ด้วยสมรรถนะไอที STEAM ด้วยการบูรณาการณ์ ศิลป์ (ศิลปะ ดนตรี ศาสนาและวัฒนธรรม) สร้างเสริมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเน้นการบูรณาการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสานต่อกิจกรรมพัฒนาและสร้างโอกาสให้แก่นักเรียนห้องเรียน SMP-YRU และห้องเรียนโปรแกรมและระดับชั้นอื่น ๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรม  อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นเพียงการเสนอ (ร่าง) โครงการฯ เพื่อการพิจารณาโดยคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต่อไป โปรดติดตามความคืบหน้าโครงการฯ ต่อไป 


วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

คณะกรรมการโครงการ SMP-YRU ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาคัดเลือกโรงเรียนเครือข่าย จำนวน 3 โรงเรียน

          
          เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยมี อาจารย์ ดร.ศิริชัย  นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร/ผู้รับผิดชอบโครงการฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการดำเนินงานโครงการ SMP-YRU ร่วมกับคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร และกองนโยบายและแผน โดยทีมออกแบบและวิศวกร ลงพื้นที่เพื่อสำรวจสภาพห้องที่จะปรับปรุงและพัฒนาห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนเครือข่าย จำนวน 3 โรงเรียน เพื่อนำข้อมูลมาปรับแบบก่อสร้าง สำหรับการปรับปรุงห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ของแต่ละโรงเรียนให้มากที่สุด  สำหรับพื้นที่โรงเรียนที่ได้เข้าไปสำรวจและเยี่ยมชม ได้แก่ 

1.โรงเรียนผดุงศิลวิทยา ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา
2.โรงเรียนเจริญศาสน์วิทยา (ปอเนาะกาสังบน) ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ อำเภอบันนังสตา
3.โรงเรียนพัฒนาวิทยากร (ปอเนาะป่าพร้าว) ตำบลจ๊ะกว๊ะ อำเภอรามัน

ผลการตรวจเยี่ยม พบว่า สภาพทั่วไปของโรงเรียนเครือข่ายทั้ง 3 โรงเรียน มีการจัดการเรียนการสอนระดับมัธยมตอนต้น-ตอนปลายอยู่แล้ว และมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จำนวน 1 ห้อง แต่ส่วนใหญ่ ยังขาดอุปกรณ์ทดลองและวัสดุจัดการเรียนการสอน อีกทั้งครูผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์ ยังขาดการพัฒนาเทคนิคและทักษะในการจัดการเรียนรู้การทำการทดลองวิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ